[เบื้องหลังหนังไทย เหนือเกล้า]

ฟิล์ม 16 มม. / ขาวดำ / เงียบ / 40.11 นาที

ผู้สร้าง สำนักงาน วิช วัชรา



ภาพยนตร์ ปี 2510 เรื่องนี้ เป็นหนึ่งในผลงานที่สำนักงาน วิช วัชรา ของ วิเชียร สงวนไทย อดีตนักข่าวบันเทิงชื่อดัง ผลิตขึ้นเป็นรายการโทรทัศน์ เพื่อนำเสนอเบื้องหลังการถ่ายทำภาพยนตร์ไทยเรื่องต่าง ๆ ที่กำลังสร้าง โดยออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 ในช่วงกลางวันของวันหยุดเสาร์ - อาทิตย์


แม้ว่าในขณะนั้นโทรทัศน์ยังไม่แพร่หลาย และไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ แต่การนำเสนอภาพยนตร์ในรายการเบื้องหลังหนังไทยนี้ ย่อมมีผลต่อการส่งเสริมการตลาด ให้ผู้ชมที่เป็นแฟนหนังไทยคอยติดตามไปชมเมื่อภาพยนตร์เรื่องนั้น ๆ เข้าโรงฉาย  เจ้าของหรือผู้สร้างภาพยนตร์จึงน่าจะมีส่วนสนับสนุนในการผลิตรายการ และเมื่อออกอากาศแล้วผู้ผลิตจึงมอบฟิล์มให้แก่เจ้าของภาพยนตร์ อย่างเช่นกรณีเบื้องหลังหนังไทยเรื่อง เหนือเกล้า นี้ หอภาพยนตร์ได้รับบริจาคฟิล์มจาก บำเทอง โชติชูตระกูล ผู้สร้างภาพยนตร์เรื่อง เหนือเกล้า ซึ่งคงได้รับมาจากผู้ผลิตรายการ  


เหนือเกล้า ออกฉายในปี พ.ศ. 2510 นำแสดงโดย มิตร ชัยบัญชา และ เพชรา เชาวราษฎร์ ถ่ายทำในรูปแบบฟิล์ม 16 มม. พากย์ ซึ่งเป็นวิธีการถ่ายทำที่ผู้สร้างหนังไทยในขณะนั้นนิยม ภาพยนตร์เบื้องหลังหนังไทยเรื่องนี้ จึงได้ถ่ายทอดให้เห็นการทำงานในรูปแบบดังกล่าวอันเป็นเอกลักษณ์ของหนังไทยยุคหนึ่ง ทั้งอุปกรณ์การถ่ายทำ ฉากในโรงถ่ายและนอกสถานที่ ทีมงาน โดยเฉพาะผู้กำกับบท ซึ่งสามารถบอกบทสด ๆ ให้แก่นักแสดงขณะถ่ายทำได้ เนื่องจากไม่มีการบันทึกเสียง แต่ใช้วิธีการพากย์สดในโรงภาพยนตร์


นอกจาก มิตร – เพชรา ดาราคู่ขวัญอันดับหนึ่งในตอนนั้น ภาพยนตร์ยังปรากฏให้เห็นนักแสดงคนสำคัญที่ร่วมแสดง เช่น สมจิตต์ ทรัพย์สำรวย, ล้อต๊อก, สมพงษ์ พงษ์มิตร, ชุมพร เทพพิทักษ์ ฯลฯ รวมถึงผู้กำกับคือ รังสี ทัศนพยัคฆ์ เจ้าของฉายา “เสือปืนไว” จากความสามารถในการถ่ายภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ๆ ได้เร็วกว่าผู้กำกับทั่วไป โดยเฉพาะการใช้เทคนิคถ่ายเจาะ หมายถึง การถ่ายดาราที่ได้คิวมาให้ได้มากฉากที่สุด แล้วค่อยไปตัดต่อกับดาราคนอื่น ซึ่งอยู่ร่วมฉากแต่ไม่ได้มาถ่ายทำด้วยกัน ทำให้ประหยัดทั้งเวลาและคิวดารา รวมทั้งตัวเขาเองสามารถกำกับภาพยนตร์พร้อม ๆ กันได้ถึง 2 - 3 เรื่องในเวลาเดียวกัน นอกจากบรรยากาศในกองถ่าย ยังมีภาพเหตุการณ์ที่ดูเหมือนเป็นชีวิตที่บ้านพักของ “ครูรังสี” เห็นภรรยาและลูกชาย เด็กชายตุ๊ดติ่ง ทัศนพยัคฆ์ ซึ่งมีผลงานแสดงเป็นตัวละครเด็กในภาพยนตร์ไทยหลายเรื่อง 


บำเทอง โชติชูตระกูล ผู้อำนวยการสร้าง เหนือเกล้า ก็ได้ปรากฏตัวในภาพยนตร์เบื้องหลังนี้ด้วย เมื่อเขาได้ขึ้นมอบซองแก่บุคคลผู้หนึ่งบนเวทีมวย ซึ่งเข้าใจว่าเป็นเวทีมวยที่มีการแข่งขันชกมวยการกุศล และทางผู้สร้างภาพยนตร์ได้ขอเข้าไปถ่ายภาพยนตร์ ในฉากแข่งขันชกมวยของ มิตร ชัยบัญชา นอกจากเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ บำเทองยังเป็นที่รู้จักในฐานะเพื่อนสนิทของ มิตร ชัยบัญชา ที่คลุกคลีกันมาตั้งแต่สมัยเรียน โดยเขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า เหนือเกล้า เป็นหนึ่งในผลงานที่มิตรรักมากที่สุด เพราะส่วนหนึ่งอ้างอิงมาจากชีวิตจริงของเขาที่เคยเป็นนักมวย และมิตรได้ขึ้นไปดูภาพยนตร์เรื่องนี้ที่โรงภาพยนตร์คาร์เธย์หลายสิบครั้ง 


อีกส่วนที่สำคัญของภาพยนตร์ชุดนี้ คือ การได้เห็นสภาพของผู้คนในท้องถิ่นเดินทางมาดูการถ่ายทำนอกสถานที่ อย่างที่เรียกกันว่าไทยมุง ซึ่งมีจำนวนมากมายมหาศาลและเต็มไปด้วยชีวิตชีวา รวมถึงเห็นบุคลิกการวางตัวของนักแสดงภาพยนตร์กับประชาชน โดยเฉพาะ มิตร และ เพชรา ผู้เป็นดารายอดนิยม และไม่ได้มีโอกาสพบปะแฟน ๆ ในต่างจังหวัดบ่อยครั้งเหมือนนักแสดงในทุกวันนี้ การมาถึงของพวกเขาในกองถ่ายหนังจึงถือเป็นวาระสำคัญที่ชาวบ้านที่จะได้สัมผัสตัวจริงของดาราขวัญใจ


ฟิล์มภาพยนตร์บันทึกเบื้องหลังหนังไทยเรื่อง เหนือเกล้า นี้ เป็นฉบับก่อนที่จะตัดต่อใช้จริง และมิได้บันทึกเสียงในฟิล์ม เนื่องจากใช้การบรรยายสดในสถานีขณะออกอากาศ อีกทั้งหอภาพยนตร์ไม่ได้รับบทบรรยายมาด้วย รวมถึงเป็นฟิล์มขาวดำ แตกต่างจากภาพยนตร์จริงที่เป็นฟิล์มสี อย่างไรก็ตาม ภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ปรากฏเป็นเวลาประมาณ 40 นาที ยังมีคุณค่าอย่างยิ่งในการนำเสนอให้เห็นทั้งวิธีการถ่ายทำภาพยนตร์ไทยยุคหนัง 16 มม. ซึ่งหาชมได้ยาก เห็นเบื้องหลังของดาราผู้ยิ่งใหญ่ที่ผู้ชมเคยพบแต่เบื้องหน้าบนจอภาพยนตร์ และเห็นถึงอิทธิพลของภาพยนตร์ไทยในยุคที่เฟื่องฟูที่สุดยุคหนึ่ง ซึ่งสามารถครองใจประชาชนได้อย่างที่ไม่อาจหาสื่อบันเทิงอื่นใดมาเทียบเคียง