ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด

ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง / 128 นาที

บริษัทสร้าง ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น

ผู้อำนวยการสร้าง เจริญ เอี่ยมพึ่งพร

ผู้กำกับ คุณาวุฒิ (วิจิตร คุณาวุฒิ)

ผู้เขียนบท วิจิตร คุณาวุฒิ

ผู้กำกับภาพ สมชัย ลีลานุรักษ์

ผู้ลำดับภาพ วิจิตร คุณาวุฒิ

ผู้กำกับศิลป์ เพิ่มศักดิ์ อาบทิพย์

ผู้ทำดนตรีประกอบ วิรัช อยู่ถาวร

ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย ทองปอนด์ คุณาวุฒิ

ผู้แสดง ลินดา ค้าธัญเจริญ, วิลเลี่ยม เมลเชอรส์, ชนาภา นุตาคม, ศรินทิพย์ ศิริวรรณ, ธงชัย ประสงค์สันติ, อัญชลี ชัยศิริ, ศศิธร ปิยะกาญจน์, ชัชวาลย์ หาลำเจียก, ชัยวัฒน์ ทวีวงศ์แสงทอง, กฤษณ์ ศุกระมงคล


ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด สร้างจากบทประพันธ์ของ โบตั๋น หรือ สุภา สิริสิงห ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2542  ผู้เคยให้สัมภาษณ์ว่า ในวัยเด็ก ช่วงหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2  เธอชอบฟังละครวิทยุ และพบว่า ชีวิตนางเอกในละครนั้น ล้วนแต่เจ้าน้ำตา น่าสงสาร จากการถูกกดขี่รังแก จนกลายเป็นแรงขับดันให้เธอเขียนนวนิยาย โดยให้ตัวเอกเป็นผู้หญิงที่มีบุคลิกเด็ดเดี่ยว แตกต่างจากตัวละครที่เธอเคยได้ฟัง  ซึ่งหนึ่งในตัวละครของโบตั๋น ที่แสดงให้เห็นเจตจำนงนี้ได้เป็นอย่างดีคือ บุญรอด หญิงสาวผู้ยืนหยัดไม่ยอมเป็นเมียเช่าให้แก่ทหารอเมริกัน ที่เข้ามาใช้ประเทศไทยเป็นฐานทัพ ในช่วงสงครามเวียดนาม แม้เธอจะประสบกับความยากลำบากและคำสบประมาทต่าง ๆ นานา


นวนิยาย “ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด” พิมพ์ครั้งแรกในปี 2524 และได้รับรางวัลชมเชยจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ประจำปีดังกล่าว นอกจากนี้ ยังกลายเป็นหนังสือนอกเวลาสำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในหลายๆ โรงเรียน รวมทั้งได้รับการดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์ถึง 3 ครั้ง และเป็นภาพยนตร์ 1 ครั้ง


ละครโทรทัศน์ฉบับแรก ออกฉายภายหลังนวนิยายตีพิมพ์ครั้งแรกเพียง 2 ปี และได้รับความนิยมอย่างสูง จนทำให้ตัวละครบุญรอดเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง  ก่อนที่ วิจิตร คุณาวุฒิ ผู้กำกับระดับศิลปินแห่งชาติ ด้านภาพยนตร์คนแรกของประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ประสบความสำเร็จในการสร้างภาพยนตร์จากนวนิยายชื่อดัง เช่น น้ำเซาะทราย (2516) ป่ากามเทพ (2519) เมียหลวง (2521) ลูกอีสาน (2525)  จะนำ “ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด” มาดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์ ออกฉายในปี 2528 


แม้ความโด่งดังของละครโทรทัศน์ จะมีส่วนให้ฉบับภาพยนตร์จะไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้ ตามที่ วิจิตร คุณาวุฒิ ยอมรับว่า “คนดูอิ่มจากหนังโทรทัศน์แล้ว” รวมถึงไม่ได้รับรางวัลใด ๆ เลย เนื่องจาก “คุณาวุฒิ” ผู้ได้รับฉายา “เศรษฐีตุ๊กตาทอง” ได้ประกาศขอไม่ร่วมประกวดภาพยนตร์และไม่รับรางวัลอีก หลังจากความสำเร็จของเรื่อง ลูกอีสาน  แต่ ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด ยังถือเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นเอกที่แสดงให้เห็นถึงความจัดเจนในการดัดแปลงนิยายมาเป็นภาพยนตร์ รวมถึงมุมมองแบบมนุษยนิยมของคนทำหนังชั้นครูผู้นี้ เมื่อเขาเลือกตัดทอนเนื้อหาจากนวนิยายออกไปเกือบครึ่ง เพื่อให้เล่าออกมาเป็นภาพยนตร์ได้อย่างกระชับ ชัดเจน แต่ยังสามารถคงประเด็นหลักของเรื่องเอาไว้ได้ นอกจากนี้ ยังได้ปรับแนวเรื่อง ด้วยการขับเน้นตัวละครบุญรอดให้เป็นฮีโร่ และเพิ่มบทให้บุญรอดได้แต่งงาน ซึ่งเขามองว่าเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของเธอ หลังจากถูกใคร ๆ ดูถูกมาตลอดว่าต้องเป็นเมียเช่า 


ความเป็นผู้หญิงสู้ชีวิต ไม่ยอมตกเป็นเบี้ยล่างของคนอื่น และพยายามดิ้นรนสู่หนทางที่ดีกว่า ด้วยความสามารถของตัวเอง พร้อมทั้งสอนให้สมาชิกในครอบครัวรู้จักขยันอดทนเพื่อประสบความสำเร็จ ทั้งหมดนี้ทำให้บุญรอดเป็นตัวละครหญิงที่เข้มแข็งและเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ผู้หญิงที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา อย่างที่ไม่ได้มีให้เห็นบ่อยนักในภาพยนตร์ไทย 


นอกจากนี้ การที่ผู้ประพันธ์สร้างตัวละครบุญรอดให้เป็นผู้หญิงที่ไม่ได้สวยตามแบบฉบับนางเอกนิยายไทยทั่วไป แต่กลับมั่นใจในรูปลักษณ์ของตัวเอง จนสามารถก้าวข้ามคำวิพากษ์วิจารณ์ด้านรูปลักษณ์แบบที่สังคมไทยคุ้นเคย ยิ่งทำให้บุญรอด เป็นหนึ่งในตัวละครนางเอกของไทยที่ยังสามารถได้รับการนำเสนอในยุคปัจจุบันที่สังคมพยายามสลัดตัวออกจากค่านิยมเดิม ๆ ได้อย่างไม่ขัดเขิน ผ่านบทบาทการแสดงที่น่าจดจำของ ลินดา ค้าธัญเจริญ


แต่กระนั้นก็ตาม ในภาพยนตร์ก็ยังคงปรากฏตัวละครผู้หญิงที่สังคมตราหน้าว่าไม่ดี โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อขับเน้นให้เห็นถึงการต่อสู้ของบุญรอด และในบางช่วงของภาพยนตร์ก็ยังมีทัศนคติ หรือการใช้ภาษาที่สามารถก่อเกิดความรู้สึกเหยียดเชื้อชาติ เพศ สติปัญญา และความบกพร่องของร่างกาย ซึ่งทำให้เห็นทัศนคติของสังคมไทยโดยรวมในช่วงที่ภาพยนตร์เรื่องนี้เผยแพร่ได้อีกเช่นกัน


ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด จึงเป็นทั้งบทบันทึกเรื่องราวในช่วงที่ประเทศไทยเปิดให้กองทัพอเมริกันเข้ามาตั้งฐานทัพ จนเกิดธุรกิจคลับบาร์ และสถานที่ผ่อนคลายให้แก่ทหารเหล่านี้ อันกลายเป็นที่มาของ “เมียเช่า” ซึ่งมักไม่ค่อยถูกถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์ไทย และยังสะท้อนให้เห็นถึงอารมณ์รวมทั้งค่านิยมของผู้คนในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ในขณะเดียวกัน ภาพยนตร์ยังเป็นเสมือนคำประกาศในศักดิ์ศรีของผู้หญิงไทย ที่เต็มไปด้วยเลือดเนื้อและไม่เคยล้าสมัย อันเกิดจากการสร้างสรรค์และโลกทัศน์ของศิลปินแห่งชาติคนสำคัญทั้งสองคน