ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง / 118 นาที
บริษัทสร้าง พูนทรัพย์ โปรดักชั่น
ผู้อำนวยการสร้าง วิศิษฐ์ มิ่งวัฒนบุญ
ผู้กำกับ ม.ล. พันธุ์เทวนพ เทวกุล
ผู้เขียนบท ม.ล. พันธุ์เทวนพ เทวกุล
ผู้กำกับภาพ พิพัฒน์ พยัคฆะ
ผู้ลำดับภาพ ปิยกุล เลาวรรณศิริ
ผู้กำกับศิลป์ กิตติพงศ์ จันทรสุริยศักดิ์
ผู้ทำดนตรีประกอบ สุรชัย จันทิมาธร
ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย สุวรรณดี จักราวรวุธ (ควบคุมเครื่องแต่งกาย)
ผู้แสดง ลิขิต เอกมงคล, สินจัย หงษ์ไทย, สหัสชัย ชุมรุม, ชนาภา นุตาคม, ธิติมา สังขพิทักษ์, วสันต์ อุตตะมะโยธิน, กฤษดา ยะอนันต์, ศลินทร วัสสานุกูล, ชาคริต หลิ่มสุวรรณ, สมชายโพธิ์ดี, ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง, วิยะดา อุมารินทร์, สุรชัย จันทิมาธร, มารุต สาโรวาท, สุรศักดิ์ วงษ์ไทย, อัครมณี วรรณประไพ, ดนัย ศรีภิญโญ, สำราญ สมบัตินันท์, เมธี กายบริบูรณ์, แมรี่ ปิติวงศ์, สุจิตรา นิลหุต, กฤษณพงษ์ นาคธน, สมปอง จุลละทรัพย์, บริสุทธิ์ บูรณสัมฤทธิ์, Bernard Drugere
ผลงานลำดับที่ 2 ของ ม.ล. พันธุ์เทวนพ เทวกุล หรือ “หม่อมน้อย” ผู้กำกับภาพยนตร์และละครที่มีชื่อเสียงมายาวนานจนถึงปัจจุบัน และเป็นครูของนักแสดงคนสำคัญหลายคน ภาพยนตร์ออกฉายในปี 2529 ปีครบรอบหนึ่งทศวรรษกรณีสังหารหมู่นักศึกษาเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 อันเป็นแรงบันดาลใจให้หม่อมน้อยเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นมา ในช่วงเวลาที่ปัญญาชนจากยุคนั้นบางส่วนได้หันไปทุ่มเทสติปัญญาให้แก่วงการโฆษณาซึ่งกำลังมีบทบาทมากขึ้นตามเศรษฐกิจและกระแสบริโภคนิยม
ช่างมัน..ฉันไม่แคร์ นำแสดงโดย สินจัย เปล่งพานิช (นามสกุลเดิม หงษ์ไทย) และ ลิขิต เอกมงคล ซึ่งเคยร่วมงานกับหม่อมน้อยมาด้วยกันตั้งแต่ผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก เพลิงพิศวาส ใน ช่างมัน..ฉันไม่แคร์ สินจัยรับบทเป็น พิมภรณี สาวทันสมัย ผู้มีสถานะเป็นเจ้าแม่แห่งวงการโฆษณา และลิขิตรับบทเป็น สมหวัง หนุ่มต่างจังหวัดแสนซื่อ ซึ่งพิมภรณีถูกชะตาจนชักชวนให้มาเป็นนายแบบโฆษณา โดยไม่รู้ว่าเขามีชีวิตอีกด้านหนึ่งเป็นชายขายบริการในบาร์
ภาพยนตร์เปิดเรื่องให้ผู้ชมเห็นถึงกิจวัตรตั้งแต่ตื่นนอน อาบน้ำ จนเดินทางออกไปทำงานของตัวละครหลักทั้งสองคน โดยตัดสลับให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่แตกต่างทั้งฐานะและสถานะทางสังคม แต่กลับดำเนินล้อกันไปราวกับเป็นกระจกส่องสะท้อนซึ่งกันและกัน ไม่เพียงเท่านั้น ในฉากสำคัญฉากหนึ่ง เมื่อพิมภรณีได้รับคำชมจากรุ่นพี่สมัยเป็นนักศึกษา ถึงเรื่องงานโฆษณาที่เธอทำ เธอกลับกล่าวตัดพ้อว่าตัวเองเป็นเหมือน “กะหรี่ขายตัวทางปัญญา” อันมีนัยยะเปรียบเทียบกับอาชีพขายบริการของสมหวัง ก่อนที่หนังจะเปิดเผยให้เห็นว่า อดีตนั้นเธอเคยเป็นนักศึกษาผู้เปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์ซึ่งรอดชีวิตจากเหตุฆาตกรรมทางการเมืองในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ด้วยการช่วยเหลือของแฟนหนุ่มนักศึกษา แต่อดีตที่ยังคงตามมาหลอกหลอน ทำให้เธอรู้สึกอึดอัดกับงานโฆษณาที่กลายมาเป็นตัวตนของเธอในปัจจุบัน รวมทั้งผิดหวังในคนรักซึ่งผันตัวไปเป็นนักธุรกิจที่หมกมุ่นอยู่กับความสำเร็จทางตัวเลข ความซื่อและจริงใจของสมหวังจึงกลายเป็นสิ่งที่เข้ามาเติมเต็มคุณค่าบางอย่างในชีวิตที่พิมภรณีโหยหา
ไม่เพียงแต่ชั้นเชิงทางภาษาภาพยนตร์ที่เต็มไปด้วยสัญลักษณ์และเทคนิคการนำเสนอรวมถึงบทที่คมคาย ช่างมัน..ฉันไม่แคร์ ยังโดดเด่นด้วยเพลงประกอบภาพยนตร์ โดยเฉพาะเพลงที่มีชื่อเดียวกับหนัง ซึ่งแต่งและขับร้องโดย สุรชัย จันทิมาธร นักร้องเพื่อชีวิตผู้เป็นหนึ่งใน “คนเดือนตุลา” และรับเชิญมาร่วมแสดงในภาพยนตร์ นอกจากนี้ยังมีเพลง “สุดขอบสายรุ้ง” ที่ใช้ทำนองเพลง Over the Rainbow จากภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง The Wizard of Oz (2482) ซึ่งหม่อมน้อยเป็นผู้แต่งเนื้อร้องไทย ให้สินจัยขับร้องในเรื่องเพื่อรำพึงถึงอุดมคติที่เคยไขว่คว้า และ “แดนที่เราเคยฝันไป อยู่ในใจเสรี”
ช่างมัน..ฉันไม่แคร์ ได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ประจำปี พ.ศ. 2529 ทั้งยังเป็นผลงานการสร้างสรรค์ของ ม.ล. พันธุ์เทวนพ เทวกุล ที่ได้รับคำชมมากที่สุดเรื่องหนึ่ง ในขณะเดียวกัน ยังมีคุณค่าเป็นตัวอย่างอันหายากของภาพยนตร์ไทยที่มีบริบทเกี่ยวข้องกับกรณี 6 ตุลาคม 2519 โดยเฉพาะในแง่การวิพากษ์วิจารณ์สถานะและอุดมการณ์ของปัญญาชนที่เปลี่ยนไป ควบคู่ไปกับการจดบันทึกสภาพชีวิต สภาพสังคม และค่านิยมของกรุงเทพฯ ในช่วงที่วัฒนธรรมการบริโภคกำลังเริ่มเฟื่องฟู