[โสกันต์พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต]

ฟิล์ม 16 มม. / ขาวดำ / เงียบ / 14 นาที

ผู้สร้าง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระราชพิธีโสกันต์ เป็นพิธีการโกนจุกของพระโอรสธิดาและพระนัดดาหรือหลานของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ถ้าเป็นเจ้านายผู้ชายจะทำเมื่ออายุย่างเข้า 11 - 13 พรรษา ถ้าเป็นเจ้านายผู้หญิงเมื่อครบ 11 พรรษา โสกันต์ใช้เรียกสำหรับเจ้านายชั้นเจ้าฟ้าและพระองค์เจ้า หากต่ำกว่าคือหม่อมเจ้าลงมาใช้เกษากันต์  ถ้าเป็นสามัญชนเรียกว่าพิธีตัดจุก พิธีการนี้เป็นเครื่องหมายที่ทำให้รับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงสำคัญในช่วงเจริญวัยของเด็ก และเตรียมตัวเตรียมใจเข้าสู่การเริ่มเป็นผู้ใหญ่ต่อไป


แม้เชื่อว่าน่าจะมีการถ่ายภาพยนตร์พระราชพิธีโสกันต์มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่ภาพยนตร์เริ่มเข้ามาในสยาม แต่หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุด คือการแจ้งความฉายภาพยนตร์พระราชพิธีโสกันต์และเกษากันต์ สมัยรัชกาลที่ 7 ปี 2470 ที่โรงภาพยนตร์พัฒนากร กรุงเทพฯ ซึ่งสันนิษฐานว่าถ่ายทำโดยกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง แต่ทว่า ในกรุภาพยนตร์ของกรมรถไฟหลวง ที่หอภาพยนตร์ได้อนุรักษ์ไว้นั้น มีเพียงเศษฟิล์มภาพยนตร์ที่ระบุว่า แห่โสกันต์ เหลืออยู่เพียงเล็กน้อย


อย่างไรก็ตาม หอภาพยนตร์ยังอนุรักษ์ภาพยนตร์บันทึกพระราชพิธีโสกันต์และเกษากันต์ที่เหลืออยู่เพียงน้อยนิดไว้ได้อีกจำนวนหนึ่ง หนึ่งในนั้นคือ พระราชพิธีโสกันต์พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต พระโอรสบุญธรรม และ เกษากันต์ หม่อมเจ้ายุธิษเฐียร สวัสดิวัตน์ พระอนุชาร่วมพระมารดาในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2471 (นับตามปีปฏิทินแบบเก่า 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่) ที่อยู่ในกรุภาพยนตร์ส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว 


ภาพยนตร์บันทึกพระราชพิธีโสกันต์และเกษากันต์ เป็นฟิล์ม 16 มม. ขาวดำ เงียบ 1 ม้วน ซึ่งกินเวลาฉายประมาณ 12 นาที เป็นภาพยนตร์ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงถ่ายด้วยฝีพระหัตถ์และโปรดให้ข้าราชบริพารถ่ายด้วย และคงเป็นการบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ รวมไว้ทำนองเป็นที่ระลึกอย่างหนังบ้าน ซึ่งเป็นหนังที่ถ่ายเก็บไว้ดูภายในครอบครัว มิได้มีการตัดต่อเพื่อเล่าเรื่องตามลำดับเหตุการณ์ และมิได้ตั้งชื่อเรื่อง (หอภาพยนตร์จึงได้ตั้งชื่ออย่างลำลองในลักษณะของหนังบ้าน) แต่ข้อเด่นของภาพยนตร์ คือการบันทึกให้เห็นอิริยาบถและกิริยาอาการที่อาจจะสนุกสนานและตื่นเต้นของเจ้านายเล็ก ๆ ที่จะเข้าพิธีโสกันต์และเกษากันต์ ซึ่งได้รับการปรนนิบัติจากพระญาติผู้ใหญ่หรือข้าราชบริพาร มีการตัดแต่งพระเกษาและแต่งองค์ทรงเครื่องอย่างเต็มพระยศก่อนจะเสด็จไปเข้าพิธี การเข้าฉากเพื่อตั้งท่าถ่ายรูปเป็นที่ระลึกตามธรรมเนียม ซึ่งเหล่านี้เป็นหลังฉากของพิธีการ และน่าจะทรงถ่ายโดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  


ในขณะที่ภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ ในพระราชพิธี ได้แก่ การเข้าขบวนแห่ไปตามถนนในพระบรมมหาราชวัง เห็นริ้วขบวนต่าง ๆ ตามแบบแผนของพระราชพิธี ผ่านบรรดาชาววังและข้าราชสำนักที่เฝ้าชมขบวนแห่ พระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกทรงรับพระกรเจ้านายเล็ก ๆ ที่เข้าพิธีโสกันต์และเกษากันต์ จากพระเสลี่ยงคานหาม เข้าไปในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เพื่อทำพิธีพราหมณ์และพุทธ พระสงฆ์สวดมนต์ถวายพระพร พระเจ้าอยู่หัวทรงใช้พระกรรไกรกรรบิด เริ่มตัดปอยผมพระเกษาของเจ้านายเล็ก ๆ  แล้วพระญาติผู้ใหญ่และพระบิดาของเจ้านายน้อย ๆ ตัดพระเกษาที่เหลือ พระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาส่งพระกรเจ้านายเล็กที่โสกันต์แล้วขึ้นพระเสลี่ยงคานหามแห่ออกไป ในช่วงท้ายของภาพยนตร์ ทรงถ่ายให้เห็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิ์วัตนวิศิษฏ์และพระองค์เจ้าอาภาพรรณี พระบิดาและพระมารดาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ในขณะที่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี กำลังทรงกล้องถ่ายรูปนิ่งบันทึกภาพเหตุการณ์นี้เป็นการส่วนพระองค์ และนอกจากจะเป็นงานโสกันต์และเกษากันต์ของพระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต และ หม่อมเจ้ายุธิษเฐียร สวัสดิวัตน์ แล้ว ยังปรากฏว่ามีเจ้านายหญิงอีกอย่างน้อยสามพระองค์ได้รับพิธีโสกันต์และเกษากันต์ปรากฏในภาพยนตร์นี้ด้วย


แม้ว่าภาพยนตร์นี้ มิอาจแสดงถึงรายละเอียดต่าง ๆ ของพระราชพิธีโสกันต์และเกษากันต์ได้อย่างครบถ้วน และไม่แน่ชัดว่าเหตุการณ์ในภาพยนตร์ดำเนินไปตามลำดับเวลาที่ถูกต้องตามจริงหรือไม่ แต่บันทึกความทรงจำของครอบครัวที่พระเจ้าแผ่นดินได้พระราชนิพนธ์ไว้ด้วยกล้องถ่ายภาพยนตร์นี้ ยังถือเป็นตัวอย่างอันมีค่าและหายาก ที่ได้แสดงให้เราในปัจจุบันเห็นประจักษ์ถึงพระราชพิธีเก่าแก่อย่างหนึ่งที่สืบทอดมายาวนานในราชสำนักสยามซึ่งกลายเป็นอดีตไปแล้ว เพราะไม่มีการจัดขึ้นอีกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475