[คำปราศรัยในวันครบรอบปีที่ 2 แห่งการปฏิวัติ 20 ตุลาคม 2503] (ไม่สมบูรณ์)

ฟิล์ม 16 มม. / ขาวดำ / เสียง / ความยาว 36 นาที

ผู้สร้าง สถานีโทรทัศน์กองทัพบก



จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในฐานะหัวหน้าคณะปฏิวัติทำการรัฐประหารรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม มาตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 และต่อมาได้รัฐประหารรัฐบาล จอมพล ถนอม กิตติขจร อีกครั้งเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 เพื่อขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี โดยได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้เริ่มเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2502 และประกาศตัวว่าเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติและหัวหน้ารัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว



ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จอมพล สฤษดิ์ มักจะปรากฏตัวทางโทรทัศน์และวิทยุเพื่อแถลงการณ์หรือกล่าวรายงาน กล่าวคำปราศรัย ในโอกาสต่าง ๆ แก่ประชาชนเสมอ และด้วยบุคลิกท่าทีแข็งกร้าว เอาจริงเอาจัง ขึงขัง พูดเสียงดัง และเรียกตัวเองว่าข้าพเจ้า เรียกผู้ฟังว่าเพื่อนร่วมชาติและมิตรร่วมชีวิต ทำให้ประชาชนจดจำได้ทันที โดยเฉพาะวลีที่กลายเป็นคำพูดประจำตัว คือ “ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่ผู้เดียว” ซึ่งมีผู้ที่ประทับใจ เห็นว่าจอมพล สฤษดิ์ เป็นอัศวินขี่ม้าขาวมาปราบทุกข์เข็ญและภัยของบ้านเมือง



หอภาพยนตร์ได้รับมอบภาพยนตร์บันทึกคำปราศรัยหรือแถลงการณ์ของจอมพล สฤษดิ์ จำนวนหนึ่ง จากสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 โดยเป็นภาพยนตร์ที่สถานีโทรทัศน์กองทัพบก ซึ่งขณะนั้นคือ ช่อง 7 อันเป็นสถานีที่รัฐบาลของคณะปฏิวัติของจอมพล สฤษดิ์ จัดตั้งขึ้น เป็นผู้ถ่ายทำ และออกอากาศทางสถานีนั้น ในบรรดาภาพยนตร์ชุดดังกล่าวเท่าที่มีหลงเหลืออยู่ เรื่องที่โดดเด่นที่สุดคือ ภาพยนตร์บันทึกคำปราศรัยในวันครบรอบปีที่ 2 แห่งการปฏิวัติ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2503 อันเป็นการสรุปผลการทำงานในช่วง 2 ปีที่จอมพล สฤษดิ์ได้ดำเนินการวางแผนโครงการเศรษฐกิจและการศึกษา ซึ่งเตรียมปฏิบัติใช้จริงในปี 2504



ภาพยนตร์จัดฉากถ่ายทำในห้องทำงานของนายกรัฐมนตรี สันนิษฐานว่าเป็นที่ทำเนียบรัฐบาล จอมพล สฤษดิ์นั่งที่โต๊ะทำงาน หันหน้าตรงมาทางกล้องหรือผู้ชม ด้านหลังโต๊ะเป็นตู้หนังสือ มีธงชาติตั้งประดับสองข้างโต๊ะ หลังตู้มีโล่ตราสำนักนายกรัฐมนตรี เหนือขึ้นไปบนผนังประดับพระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ 9  โดยนายกรัฐมนตรีถือปึกกระดาษในมือเพื่ออ่านปราศรัย ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับภาพยนตร์บันทึกคำปราศรัยหรือแถลงการณ์ของจอมพล สฤษดิ์ เรื่องอื่น ๆ ที่หอภาพยนตร์พบ กล่าวเฉพาะเรื่องนี้ ภาพยนตร์ได้ถ่ายทอดให้เห็นภาพและเสียงของจอมพล สฤษดิ์ อ่านรายงานผลงานของรัฐบาลสมัยปฏิวัติในรอบสองปีที่ผ่านมาให้ประชาชนทราบ ไปทีละกระทรวง ว่าได้ทำอะไรสำเร็จบ้าง มีการตัดไปที่ภาพยนตร์และภาพนิ่งประกอบเนื้อหาตามเสียงรายงานของนายก สลับไปมากับภาพนายกรัฐมนตรีอ่านรายงาน อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์ที่หอภาพยนตร์ได้รับมานี้ เปิดเรื่องมาด้วยภาพจอมพล สฤษดิ์ กล่าวไปพอสมควรแล้ว เมื่อตรวจสอบจากเอกสารประมวลสุนทรพจน์ของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.ศ. 2502 – 2504 พบว่าคำปราศรัยนี้ยาวถึง 13 หน้ากระดาษ และส่วนที่ขาดหายไปจากภาพยนตร์นั้น กินความยาวไปประมาณเกือบ 5 หน้า



นอกจากผลงานต่าง ๆ ของรัฐบาล เนื้อหาสำคัญคือการที่ จอมพล สฤษดิ์ ได้กล่าวถึงว่า ข้าพเจ้ามารับงานของประเทศชาติในเวลาที่เหลือแต่กระดูก เนื้อหนังได้หมดไปเสียแล้ว จึงต้องมาสร้างเนื้อสร้างตัวกันใหม่ ซึ่งการจะสร้างตัวขึ้นมาได้นั้นต้องใช้เวลานาน ไม่สามารถเอาเงินมาหว่านแจกเพื่อหาเสียงหาคะแนนนิยมได้ เพราะเงินนั้นหมดไปนานแล้ว และจะไม่ยอมให้มีใครร่ำรวยขึ้นมาเป็นมหาเศรษฐีด้วยการให้อภิสิทธิ์ การโกงกิน การที่จะสร้างเนื้อหนังขึ้นมาใหม่จึงต้องมีการจัดตั้งสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นการเริ่มมีแผนพัฒนาฉบับแรกของประเทศ นอกจากนี้ยังย้ำว่ารัฐบาลสมัยปฏิวัติต้องการสร้างชนชั้นกลางให้เป็นพลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศ และสุดท้ายได้กล่าวให้คำขวัญ “ที่พูดจากดวงใจของข้าพเจ้าฝากไว้กับดวงใจของท่านทั้งหลาย” ว่า “งานปฏิวัติจะพัฒนาการประเทศไทยได้สำเร็จ ก็เมื่อคนไทยทุกคนที่มีชีวิตอยู่ในสมัยปฏิวัตินี้ ร่วมกันทำงานเพื่อบรรลุผลที่มุ่งหมาย”



ภาพยนตร์นี้นอกจากจะเป็นตัวอย่างของการกล่าวรายงานประชาชนของนายกรัฐมนตรีไทยทางสื่อโทรทัศน์ในกาลสมัยนั้น  ยังมีคุณค่าเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตชีวา มีบุคลิกภาพ มีอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งนักประวัติศาสตร์ไม่อาจศึกษาได้จากเอกสารอื่นใดเกี่ยวกับสมัยปฏิวัติของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยเฉพาะในแง่ที่ถ่ายทอดให้เห็นถึงความสามารถในการเป็นนักปราศรัยของจอมพล สฤษดิ์ ที่คนไทยยุคหนึ่งเคยติดใจ และยังเป็นอนุสรณ์ถึงผลพวงของการรัฐประหารครั้งที่กล่าวกันว่า เป็นการล้างระบบทางการเมืองของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ออกไปอย่างเด็ดขาด และสร้างระบอบประชาธิปไตยแบบ “ไทย ๆ” ขึ้นมาใหม่ ซึ่งดูเหมือนยังคงฝังรากมาจนถึงปัจจุบัน