ฟิล์ม 16 มม. / สี / เสียง / 34 นาที
ปีสร้าง 2497
ผู้สร้าง กรมประชาสัมพันธ์
ปี 2496 สำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง ในสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้มอบให้สโมสรสำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิงซึ่งเป็นหน่วยหนึ่งของสำนัก และเป็นสถานที่ให้ความรู้รอบตัวแก่หญิงไทย ดำเนินการประกวด “การจัดบ้านและบริเวณ” ขึ้น เพื่อให้หญิงไทยได้แสดงสมรรถภาพในการจัดที่อยู่อาศัยให้สะอาด ถูกสุขลักษณะ และมีระเบียบในการวางเครื่องใช้ เครื่องตกแต่งบ้านเรือนให้เหมาะสม รู้จักจัดบริเวณบ้าน ตลอดจนการจัดทำสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ เป็นการช่วยประหยัดรายจ่ายของครอบครัว อันสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่จะให้ประชาชนอยู่ดีกินดี นับเป็นครั้งแรกที่มีการประกวดการจัดบ้านและบริเวณขึ้นในประเทศไทย โดยกำหนดจัดประกวดเฉพาะบ้านในจังหวัดพระนคร และจังหวัดธนบุรี
คณะกรรมการได้แบ่งบ้านที่เข้าประกวดเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทบ้านใหญ่ และประเภทบ้านเล็ก ให้เวลาแก่ผู้เข้าประกวดจัดตกแต่งบ้านเรือนตั้งแต่ พฤศจิกายน 2496 ถึงสิ้นเดือนมกราคม 2497 มีผู้ส่งเข้าประกวดในเขตจังหวัดพระนคร 47 ราย ในเขตจังหวัดธนบุรี 105 ราย รวม 152 ราย โดยคณะกรรมการแต่งตั้งอนุกรรมการขึ้นสองชุด ชุดหนึ่งตรวจคัดเลือกบ้านในพระนคร อีกชุดตรวจคัดเลือกบ้านในธนบุรี ทำการตรวจกันสองรอบ จะไปตรวจเฉพาะเวลากลางวันและแจ้งให้ผู้ประกวดรู้ตัวล่วงหน้า 24 ชั่วโมง ผู้ประกวดต้องให้คำแนะนำบ้านตนตามควรและด้วยมารยาทที่ดี การตรวจเยี่ยมบ้านนี้ต้องกระทำรายละถึง 3 ครั้ง ครั้งที่ 3 เป็นครั้งที่ให้คะแนน สำหรับในรอบที่ 1 ได้คัดเลือกบ้านที่ดีถึงขนาดของทั้ง 2 จังหวัดรวม 39 ราย เข้ารอบที่ 2 ซึ่งเป็นรอบตัดสินขั้นสุดท้าย ผลปรากฏว่าในจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีมีบ้านที่จัดได้เรียบร้อยดีถึงขนาดได้รับรางวัลประเภทบ้านใหญ่ 13 ราย ประเภทบ้านเล็ก 13 ราย เป็นรางวัลที่ 1 เงินรางวัล 3,000 บาท รางวัลที่ 2 2,000 บาท และรางวัลที่ 3 1,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตรพร้อมขันน้ำพานรอง นอกนั้นเป็นรางวัลชมเชย ได้ประกาศนียบัตรพร้อมแจกันและเงินรางวัล 500 บาท โดยผู้ได้รางวัลมีดังนี้
ประเภทบ้านใหญ่
รางวัลที่ 1 ได้แก่ นางจำนงค์ ทิพย์พยอม จังหวัดพระนคร รางวัลที่ 2 ได้แก่ นางสำเนียง ทิวะหุต จังหวัดพระนคร รางวัลที่ 3 ได้แก่ นายประวัติ จรณะจิตต์ จังหวัดธนบุรี
ประเภทบ้านเล็ก
รางวัลที่ 1 ได้แก่ นายพิศ พึ่งแย้ม จังหวัดธนบุรี รางวัลที่ 2 ได้แก่ แพทย์หญิงจันทนา สุขวัจน์ จังหวัดธนบุรี รางวัลที่ 3 ได้แก่ นางบียา ธีรทีป จังหวัดพระนคร
ผู้ได้รับรางวัลชมเชยประเภทบ้านใหญ่ ได้แก่ นายสอน ไตรยสรรค์, นางถนอมฤดู แสงอุทัย, นางสาวสารภี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, ม.ร.ว. สอาดองค์ เกษมสันต์, คุณสุภัทรา สิงหลกะ, นางแผ่ว ธนะโกเศษ, นายสมจิตต์ เที่ยงธรรม, คุณหญิงกฤตราชทรงสวัสดิ์, นายทองเจือ ทองเสถียร, นายมุ่ย เตวิทย์
ประเภทบ้านเล็ก ได้แก่ นายพิพัฒ เจียนสกุล, ร.อ. ประกฤติ ศรีนาวิน ร.น., นายอัญเชิญ ชมภูโพธิ์, นายพ่วง เกิดศรี, นายอุดม อมาตยกุล, นายโสมพงษ์ ทองเจิม, นางสุลักขณา เถลิงสุข, นายพักตร์ หงษ์ทอง, นายนพ อโนมะศิริ, หลวงจิตรการุณราษฎร์
ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นผลงานถ่ายทำโดย กรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี มีความยาว 34 นาที ไม่ปรากฏไตเติลชื่อเรื่อง และไม่มีเสียงบรรยาย แต่มีเสียงดนตรีประกอบในตอนต้น แบ่งเนื้อหาเป็น 3 ช่วง ช่วงแรกกินเวลาราว 25 นาที เป็นการบันทึกกิจกรรมพิจารณาคัดเลือกและให้คะแนนตัดสินบ้าน ผู้ถ่ายพยายามให้เห็นทั้งบรรยากาศของคณะกรรมการและอนุกรรมการจำนวนนับยี่สิบคนที่ปฏิบัติหน้าที่เดินตรวจพิจารณาบ้านกว่ายี่สิบหลัง และให้เห็นสภาพทั้งภายนอกและภายในบ้านตามเกณฑ์ที่กำหนด คือการจัดส่วนต่าง ๆ ของบ้าน ห้องรับแขก ห้องนอน ห้องพระ ห้องอาหาร ครัว การทำสวนครัว การเลี้ยงสัตว์ โดยนำภาพบ้านแต่ละหลังมาเรียงต่อ ๆ กันไป และตอนท้ายของช่วง ได้บันทึกการเดินทางของคณะกรรมการและอนุกรรมการทางเรือยนต์ในแม่น้ำเจ้าพระยาและในลำคลอง แล้วต่อด้วยการเดินเท้าบนสะพานไม้กระดานแผ่นเดียวข้ามคลองเข้าไปตรวจดูบ้านที่อยู่ลึกในสวน เป็นภาพที่เห็นความแข็งขันในการทำงานของคณะกรรมการและอนุกรรมการ
ช่วงที่สอง กินเวลาราวห้านาที เป็นช่วงที่บันทึกการประชุมเพื่อตัดสินบ้านที่ชนะรางวัล มีคุณหญิงรามราชภักดีนั่งหัวโต๊ะเป็นประธานที่ประชุม จากนั้นเป็นเหตุการณ์ที่คณะกรรมการเข้ารายงานผลการตัดสินต่อท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ภริยานายกรัฐมนตรี ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานสำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ ภาพยนตร์บันทึกให้เห็นบรรยากาศของการเข้าพบและสามารถเก็บภาพอิริยาบถของท่านผู้หญิงละเอียด
ได้เด่นชัด จากนั้นจึงตัดไปที่ภาพเจ้าหน้าที่ในชุดข้าราชการชาย กับคณะ เดินทางไปยังบ้านหลังหนึ่งในสวน เห็นป้ายที่หน้าบ้านระบุว่า บ้านผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ต.ราษฎร์บูรณะ อ.ราษฎร์บูรณะ จ.ธนบุรี เจ้าของบ้าน ซึ่งมีเด็ก ๆ ด้วยออกมาต้อนรับ แล้วไปดูโต๊ะที่ฟักไข่ไก่จำนวนหนึ่งออกเป็นลูกเจี๊ยบ ดูการให้อาหารไก่ในเล้าและการให้อาหารปลาในบ่อ ภาพยนตร์ส่วนนี้มีความยาวราวสองนาที ซึ่งบางทีอาจจะไม่เกี่ยวข้องกับการประกวดบ้านโดยตรง แต่เป็นฟิล์มที่บังเอิญมารวมอยู่ในม้วน
ช่วงที่สามคือช่วงสุดท้าย เป็นเหตุการณ์พิธีมอบรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดบ้าน ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2497 เป็นงานกลางแจ้งในสนามหญ้าหน้าอาคารซึ่งอาจจะเป็นกระทรวงวัฒนธรรม สนามเสือป่า ภาพยนตร์บันทึกและตัดต่อเรียบเรียงเหตุการณ์ตามลำดับ เห็นท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม เดินทางมาถึงงาน ทักทายโอภาปราศรัยกับผู้เข้าร่วมพิธี ต่อมา จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธานในพิธีเดินทางมาถึง คุณหญิงรามราชภักดี ประธานคณะกรรมการจัดงานประกวดกล่าวรายงาน แล้วจอมพล ป. พิบูลสงคราม มอบรางวัลแก่เจ้าของบ้านที่ชนะการประกวด ตามลำดับที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และรางวัลชมเชย ในตอนท้ายได้ถ่ายเจาะภาพเจ้าของบ้านที่ชนะ ซึ่งมีทั้งที่เป็นคู่สามีและภรรยา และเจ้าของเดี่ยว สุดท้ายตัดไปที่ตัวอักษรข้อความ สวัสดี ทำให้เห็นว่าอย่างน้อยภาพยนตร์ม้วนนี้อาจทำไว้ให้ใช้ฉายเผยแพร่ได้ด้วย มิใช่ถ่ายเก็บเป็นหลักฐานเท่านั้น แต่สภาพที่ยังสมบูรณ์ของเนื้อฟิล์ม เข้าใจได้ว่าผ่านการฉายน้อยมาก
ภาพยนตร์นี้นับว่ามีความสำคัญที่ได้บันทึกกิจกรรมการประกวดการจัดบ้านและบริเวณซึ่งเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประเทศไทย ที่เกิดจากนโยบายวัฒนธรรมของประเทศไทยสมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม สมัยที่ 2 แม้บางบ้านจะดูออกว่าเป็นการจัดฉากหรือประดิษฐ์ขึ้น มิได้เป็นวิถีชีวิตจริง หรือดูไม่สมเหตุสมผล แต่ก็เป็นภาพแห่งความทรงจำซึ่งเกิดขึ้นจริงเฉพาะกาลในสังคมไทยสมัยหนึ่ง การทำสวนครัว การเลี้ยงไก่ หรือการเดินออกกำลังกายตอนเช้าที่เรียกว่ามอนิ่งวอล์ก เคยเป็นกระแสซึ่งคนรุ่นนั้นปฏิบัติกันเสมือนแฟชั่นที่ชักนำโดยรัฐ ซึ่งคนในปัจจุบันหากไม่เห็นในภาพยนตร์นี้ ก็อาจจะนึกไม่ออกว่าเป็นไปได้อย่างไร ที่สำคัญ ภาพยนตร์ยังมีคุณค่าในฐานะเอกสารบันทึกอารมณ์ของการเสนอบทบาทในสังคมของสตรีไทยในยุคสมัยนั้น ทั้งในด้านของการประกวดที่เน้นการแสดงสมรรถภาพในการเป็นแม่บ้านแม่เรือน และการปรากฏภาพบุคคลสำคัญ เช่น ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม และ คุณหญิงรามราชภักดี หรือ ชื่นแช่ม รามราชภักดี ซึ่งมีบทบาทในการยกสถานะของสตรีไทยให้มีบทบาททั้งในครอบครัวและในสังคม รวมถึงเรื่องของสิทธิและความเสมอภาคทางสังคมของสตรีไทย และเป็นผู้สนับสนุนนโยบายการส่งเสริมสตรีของจอมพล ป. พิบูลสงคราม อย่างแข็งขัน