ฟิล์ม 16 มม. / สี / เสียง / 14 นาที
ปีสร้าง 2502
ผู้สร้าง สำนักข่าวสารอเมริกัน กรุงเทพฯ ในนาม Southeast Asia Film
ผู้กำกับ ปยุต เงากระจ่าง
ผลงานภาพยนตร์การ์ตูนหรือแอนิเมชัน โดย ปยุต เงากระจ่าง ผู้สร้างภาพยนตร์การ์ตูนไทยสำเร็จรายแรก คือ เหตุมหัศจรรย์ เมื่อปี 2498 และออกฉายอย่างเป็นทางการในปี 2500 ซึ่งเป็นที่สนใจของสำนักข่าวสารอเมริกัน กรุงเทพฯ ที่ปยุตเข้าทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายศิลป์ของหน่วยงานอยู่ จึงได้ให้ปยุตไปดูงานและรับการฝึกอบรมการทำภาพยนตร์การ์ตูนที่โรงถ่ายโตโฮ ประเทศญี่ปุ่น ขณะเดียวกันได้มอบหมายให้สร้างภาพยนตร์การ์ตูนเพื่อต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ตามวัตถุประสงค์ของหน่วยงาน โดยไปถ่ายทำที่ประเทศญี่ปุ่น 2 เรื่อง คือ หนุมานเผชิญภัยครั้งใหม่ เมื่อปี 2500 และเรื่อง เด็กกับหมี เมื่อปี 2502
เด็กกับหมี เป็นภาพยนตร์ที่ทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ในประเทศไทยและประเทศฝ่ายโลกเสรีหรือค่ายประชาธิปไตยในสงครามเย็น โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเซีย สร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนหรือเพื่อโฆษณาชวนเชื่อให้ประชาชนเข้าใจถึงการจัดตั้งองค์การสนธิสัญญาร่วมป้องกันแห่งเอเซียอาคเนย์ หรือ ซีโต (Southeast Asia Treaty Organization) (SEATO) เมื่อปี 2497 โดยมีสหรัฐฯ เป็นตัวตั้งตัวตีจัดตั้งขึ้น เพื่อต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ เป็นองค์การร่วมมือทางทหารที่มีสัญญากันว่าหากประเทศสมาชิกใดถูกรุกรานด้วยกำลังโดยประเทศคอมมิวนิสต์ ถือเป็นการรุกรานประเทศสมาชิกด้วยกัน จึงจะร่วมกันสู้เพื่อปกป้องคุ้มครองประเทศสมาชิก มีประเทศซึ่งเป็นประเทศในค่ายโลกเสรีด้วยกันร่วมเป็นสมาชิก 8 ประเทศ คือ สหรัฐฯ, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, ปากีสถาน, ฟิลิปปินส์, ไทย มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ องค์การนี้ยังให้ความคุ้มครองประเทศที่มิได้เป็นสมาชิกอีกสามประเทศ คือ ลาว, เขมร, เวียดนามใต้
ไม่มีข้อมูลชัดเจนว่า ปยุต เงากระจ่าง เป็นผู้คิดเรื่องเอง แต่เชื่อว่าน่าจะได้โจทย์มาจากสำนักข่าวสารอเมริกัน โจทย์คือสร้างนิทานที่มีหมี อันเป็นตัวแทนของสหภาพโซเวียต เป็นผู้ร้าย เดิมหมีอยู่ในกรง ที่มีคนเลี้ยง ผู้ทารุณ คอยรังแกทำร้ายจนหมีผอมโซ มีเด็ก ๆ นานาชาติมาดูและสงสารหมี นึกอยากให้หมีหนีออกจากกรง วันหนึ่งหมีก็แหกกรงหนีออกมาได้และจับคนเลี้ยงกินเสีย จากนั้นหมีก็ออกล่ากินเด็ก ๆ อย่างเจ้าเล่ห์แยบคาย คือแอบล่อลวงให้ตายใจแล้วกิน ทีนี้ยังมีเด็กหญิงตัวโตกว่าเด็กอื่น คล้ายเป็นเด็กจีนใส่ชุดสีแดง มาหลงชื่นชมว่าหมีนี้ช่างหล่อเหลา และคอยแก้ต่างให้หมีเมื่อมีเด็กบางคนเริ่มสงสัยว่าเพื่อนหายไปเพราะหมีจับกิน แถมมาคอยหลอกเด็ก ๆ ว่าหมีใจดี พาเด็กที่หลงเชื่อไปหาหมี มีเด็กชายพี่น้องสองคนที่น่าจะเป็นเด็กเกาหลีนอนหลับกันอยู่ดี ๆ ก็ถูกหลอกไป เด็กคนที่ผูกโบว์แดงและใส่เกือกแดงอยากโตขึ้นตัวใหญ่เหมือนหมีก็เข้าไปหาหมี จึงถูกหมีกิน ทิ้งแต่รองเท้าแดงไว้ให้น้องที่ผูกโบว์ขาวและใส่เกือกขาวดูต่างหน้า
ต่อมา หมีก็ไปหลอกเด็กหญิงสองคนที่แต่งกายเห็นได้ชัดว่าเป็นเด็กเวียดนาม และกำลังนั่งง่วงหาวนอนกันอยู่ หมีมาหลอกว่ามีอาหารกลางวันให้กิน เด็กหญิงเวียดนามที่ใส่กางเกงแดงรีบไปกับหมีในขณะที่เด็กหญิงเวียดนามที่ใส่กางเกงขาวพยายามทัดทาน แต่ไม่ทันการ หมีกินเด็กหญิงกางเกงแดงเป็นอาหารกลางวันเรียบร้อย แล้วยังจะหันไปกินเด็กหญิงเวียดนามกางเกงขาวอีกคน ทีนี้แหละมีเด็กสองสามคนวิ่งถือไม้เรียวมาตีหมี ตีกันทีละคนสองคนก็ทำอะไรหมีไม่ได้ ฝ่ายเจ้าหมีก็เต้นระบำแบบฉบับของหมีอย่างสำราญใจและเรียกให้เด็กหญิงสาวจีนที่แต่งตัวชุดสีแดงเข้าไปเต้นใกล้ ๆ มัน มันบอกเธอว่ามันไม่กินเธอหรอก แต่มันจะกอดเธอ ในขณะที่เด็กหญิงจีนถูกกอดจนลิ้นห้อย ต่อมาเด็ก ๆ หลายชาติมาประชุมกัน ลงความเห็นว่าต้องร่วมกันสู้ ไม้เรียวอันเดียวทำอะไรไม่ได้ ต้องเอามารวมกันเป็นมัดจึงจะเอาไปตีหัวหมีได้ มีเด็กแปดคนแปดชาติมาประชุมกัน และเมื่อเอาเชือกมามัดไม้รวมกัน ก็เห็นเกลียวเชือกที่มัดไม้อ่านเป็นอักษรคำว่า SEATO แล้วเด็กแปดคนก็เอาไม้ซีโตไปตีหมี หมีตกใจกลัว วิ่งหนีไปอยู่ไกล ๆ
หอภาพยนตร์เพิ่งค้นพบภาพยนตร์นี้ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Archives and Records Administration - NARA) เมื่อปี 2562 โดยเป็นฉบับที่ใช้เสียงผู้ชายบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ แต่ฉบับที่ฉายในประเทศไทย ปยุต เงากระจ่าง เล่าว่าใช้พากย์บทเจรจา ซึ่งเขาให้ลูก ๆ ของเขาที่เวลานั้นยังเป็นเด็กช่วยกันพากย์เสียงพูดของเด็ก ๆ ในเรื่อง แต่น่าเสียดายที่ยังไม่พบสำเนาฉบับนี้
สำนักข่าวสารอเมริกัน กรุงเทพฯ มีการทำวิจัยเพื่อทดสอบว่าสื่อภาพยนตร์ที่หน่วยงานผลิตสามารถเข้าถึงประชาชนผู้ชมได้เพียงไร ก่อนที่จะมีการเผยแพร่ภาพยนตร์นั้น มีข้อมูลว่าภาพยนตร์เรื่อง เด็กกับหมี สามารถเข้าถึงผู้ชมได้ แม้ว่าจะมีผู้ชมราว 1 ใน 5 ที่ไม่ค่อยเข้าใจหรือชอบหนังเรื่องนี้ มีการวิเคราะห์ว่าผู้ชมชาวไทยอาจจะไม่ค่อยเข้าใจว่าหมีหมายถึงโซเวียต แต่ผู้ชมสามารถเข้าใจได้ว่าหนังนี้ต้องการแสดงให้เห็นการรวมตัวกันของชาติต่าง ๆ เป็นซีโต (SEATO)
ภาพยนตร์นี้บัดนี้กลายเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ ซึ่งนอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความสามารถของบรมครูผู้สร้างภาพยนตร์การ์ตูนไทย เมื่อได้รับการสนับสนุนทั้งเงินทุนและเทคโนโลยีที่ถึงพร้อม ยังเป็นตัวอย่างอันชัดเจนของการใช้ภาพยนตร์เพื่อการโฆษณาชวนเชื่อของสหรัฐอเมริกาในสงครามเย็นและในประเทศไทย เป็นการสร้างความกลัวคอมมิวนิสต์ให้แก่คนไทยแบบที่เรียกกันว่าล้างสมอง เพราะได้รับข้อมูลข่าวสารด้านเดียว ในสมัยที่ประชาชนไทยตกอยู่ใต้ผู้ปกครองเผด็จการ และประเทศไทยอยู่ใต้อิทธิพลของสหรัฐอเมริกา