ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง / ความยาว 225 นาที
วันออกฉาย 28 ธันวาคม 2516
บริษัทสร้าง ละโว้ภาพยนตร์
ผู้อำนวยการสร้าง หม่อมอุบล ยุคล ณ อยุธยา
ผู้กำกับ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ
ผู้ประพันธ์ บุษบง นารถสุดา
ผู้เขียนบท พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ
ผู้กำกับภาพ สง่า จันทวังโส
ผู้ลำดับภาพ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ
ผู้กำกับศิลป์ ทวีศักดิ์ เสนาณรงค์
ผู้ทำดนตรีประกอบ สมาน กาญจนะผลิน
ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย ปัทมนรังษี เสนาณรงค์, สุรพงศ์ โปร่งมณี
ผู้แสดง ไชยา สุริยัน, นัยนา ชีวานันท์, ภาณุวัฒน์ มังคลารัตน์, เขมิกา กุญชร ณ อยุธยา, อดุลย์ ดุลยรัตน์, เยาวเรศ นิสากร, เชาว์ แคล่วคล่อง, มารศรี อิศรางกูร ณ อยุธยา, จุรี โอศิริ, สุคนธ์ คิ้วเหลี่ยม, ปราณีต คุ้มเดช, ชูศรี มีสมมนต์, ชฎาพร วชิรปราณี, สมพล กงสุวรรณ, ทานทัต วิภาตะโยธิน, ศรีสละ ทองธารา, เสถียร ธรรมเจริญ, ศรีนวล แก้วบัวสาย, โดม สิงห์โมฬี, ขุนแผน ภุมมารักษ์, ถนอม นวลอนันต์, เมืองเริง ปัทมินทร์, สุรชาติ ไตรโภค, วงศ์ทอง ผลานุสนธิ์, ยรรยงค์ จมูกแดง, ขวัญ สุวรรณะ, สายพิณ จินดานุช, สะอาด เกศะปิณฑ์, แอ๋ คชนุช
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ หรือ “เสด็จพระองค์ชายเล็ก” แห่งวงการภาพยนตร์ไทย นับเป็นผู้สร้างและผู้กำกับภาพยนตร์ไทยที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ ทั้งทรงเริ่มสร้างภาพยนตร์มาตั้งแต่ยุคก่อนสงครามโลก ครั้งที่ 2 และทรงเป็นหนึ่งในผู้นำของบรรดาคนทำหนังไทยในช่วงหลังสงคราม ที่ส่วนมากนิยมถ่ายทำด้วยระบบฟิล์ม 16 มม. พากย์สดในโรง แต่พระองค์ทรงเป็นเพียงผู้สร้างไม่กี่รายที่ลงทุนสร้างโรงถ่ายภาพยนตร์ และถ่ายทำในระบบฟิล์ม 35 มม. เสียงในฟิล์ม อันเป็นมาตรฐานสากล ในนามบริษัทละโว้ภาพยนตร์
แหวนทองเหลือง เป็นผลงานที่เป็นหมุดหมายสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งของ “เสด็จพระองค์ชายเล็ก” ทั้งการที่ทรงเปลี่ยนแนวจากภาพยนตร์ตลาดที่พระองค์ทรงเคยสร้างจนเป็นที่นิยมโดยตลอด เช่น เงิน เงิน เงิน (2508) อีแตน (2511) เกาะสวาทหาดสวรรค์ (2512) มาเป็นภาพยนตร์แนวมหากาพย์ชีวิตที่เข้มข้นสะเทือนใจ และทรงพิถีพิถันทุ่มเทในการสร้างอย่างมากเป็นพิเศษกว่าทุกเรื่อง ใช้เวลายาวนานถึง 2 ปี จนกระทั่งกลายเป็นภาพยนตร์มีความยาวเกือบ 4 ชั่วโมง และมีการพักครึ่งระหว่างเรื่อง (Intermission) ตามอย่างภาพยนตร์อีพิคเรื่องดังของฮอลลีวูดในยุคสมัยนั้น
แหวนทองเหลือง สร้างจากบทประพันธ์ของ บุษบง นารถสุดา อันเป็นพระนามแฝงของพระองค์เอง เล่าเรื่องราวของ ดวงใจ หญิงสาวชาวเหนือที่มีสัมพันธ์รักกับ กฤษฎา นายทหารหนุ่มรูปงามฐานะสูงส่งจากเมืองกรุง โดยเธอได้มอบแหวนทองเหลืองวงหนึ่งไว้ให้เขาเป็นของแทนใจ แต่จู่ ๆ กฤษฎากลับหายตัวไปในขณะที่สงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังระอุ ต่อมา ดวงใจได้ตั้งท้อง และถูกล่ามโซ่จากพ่อบังเกิดเกล้าที่ต้องการให้เธอแต่งงานกับคนอื่น เนื่องจากไม่ต้องการให้ลูกสาวไปสร้างความเสื่อมเสียให้แก่ กฤษฎา ผู้เป็นลูกชายผู้มีพระคุณของตน แต่ดวงใจได้ตัดโซ่ออกและตัดสินใจออกตามหาคนรัก ด้วยการเดินเท้าไปตามทางรถไฟจากเชียงใหม่ไปยังกรุงเทพฯ อย่างเด็ดเดี่ยว กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้เธอได้พบกับชีวิตที่ผันผวนและระหกระเหิน ทั้งได้รับการช่วยเหลือจากชายหนุ่มผู้มีฐานะ ก่อนจะไปเป็นขอทาน และถูกบังคับให้เป็นโสเภณี จับพลัดจับผลูไปเป็นภรรยาของนายทหารญี่ปุ่นที่เข้ามาเมืองไทยด้วยภารกิจสงคราม จนสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 นายทหารญี่ปุ่นคนเกิดหายตัวไป ทิ้งทองคำจำนวนมหาศาลให้ไว้แก่เธอ เธอจึงได้กลายเป็นเศรษฐินีผู้มีชื่อเสียงในแวดวงสังคม มีบริษัทใหญ่โต กระทั่งวันหนึ่ง เธอได้พบกับชายขอทานผู้น่าสงสารซึ่งมีหน้าตาละม้ายคล้ายกับกฤษดา ที่เธอตามหามาทั้งชีวิต
บท ดวงใจ แสดงโดย นัยนา ชีวานันท์ ดาราสาวจากจังหวัดนครสวรรค์ ที่ละโว้ภาพยนตร์ปลุกปั้นฝึกฝนการแสดงมาตั้งแต่เป็นวัยรุ่น เธอเริ่มมีผลงานภาพยนตร์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 จาก มันมากับความมืด และอีกสามสี่เรื่องหลังจากนั้น แต่ แหวนทองเหลือง เป็นเรื่องที่เธอได้รับบทบาทเด่นที่สุด ในช่วงที่ภาพยนตร์ออกฉายนั้น เธอมีอายุเพียง 19 ปี แต่ต้องรับบทเป็นสาวแรกรุ่นไปจนถึงหญิงวัยกลางคน ที่ต้องผจญชีวิตอย่างโชกโชน ผลงานเรื่องนี้จึงนับเป็นภาพยนตร์แจ้งเกิดของเธออย่างแท้จริง
แหวนทองเหลือง มีคุณค่าทั้งในฐานะภาพยนตร์ที่แสดงเรื่องเล่าดุจนิยายชีวิตที่ผู้อ่านนิยายและชมมหรสพของไทยคุ้นเคยกันดี เป็นนิยายแบบมหากาพย์ชีวิตสองหรือสามยุค คือตั้งแต่ช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่สอง ยุคหลังสงคราม ไปจนถึงกลางทศวรรษ 2510 ภาพยนตร์ได้บันทึกอารมณ์ ค่านิยม และสภาพชีวิตผู้คนทั้งในตำแหน่งที่สูงสุดและต่ำสุดของบ้านเมือง ท่ามกลางช่วงเวลาสำคัญและผันผวนของประเทศไทยในระยะเวลากว่า 30 ปี อย่างที่อาจไม่มีภาพยนตร์ไทยเรื่องไหนสามารถทำได้อีก ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ ภาพยนตร์นี้ออกฉายในห้วงเวลาที่สังคมไทยเพิ่งผ่านเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงสำคัญทางการเมืองคือเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นการเปลี่ยนสังคมไทยสู่บรรยากาศประชาธิปไตยโดยนักเรียนนักศึกษา ในขณะเดียวกัน ก็เป็นตัวอย่างอันหายากที่แสดงให้เห็นถึงความกล้าทะเยอทะยานและยอมทุ่มเทเพื่อพัฒนาหนังไทยของผู้สร้างภาพยนตร์ที่ผ่านการทำหนังมาอย่างโชกโชน