[ รวมไทย ]

ความยาว 31.04 นาที

ฟิล์ม 16 มม. / ขาว-ดำ / เงียบ


ในขณะที่โลกกำลังเข้าสู่ภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยได้เกิดกรณีพิพาทกับอินโดจีนของฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. 2483 ในสมัยที่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อันมีสาเหตุมาจากการสู้รบเพื่อแย่งชิงดินแดนซึ่งประเทศไทยเคยสูญเสียให้อินโดจีนของฝรั่งเศสในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2449 การสู้รบในครั้งนี้ไม่มีการประกาศเป็นสงครามอย่างเป็นทางการ กินเวลาเพียง 3 เดือนเศษ เป็นสงครามที่มีการรบทั้งทางบก ทางอากาศ และทางเรือ ตลอดแนวชายแดนภาคอีสาน โดยการนำของแม่ทัพบูรพา พลเอกมังกร พรหมโยธี  ซึ่งกองทัพบูรพาสามารถยึดเมืองพระตะบอง เสียมราฐ อีกทั้งยังยึดธงชัยเฉลิมพลของฝรั่งเศสได้ แต่ยังไม่ทันรู้แพ้รู้ชนะ ประเทศญี่ปุ่นได้เข้ามาช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยและยุติการสู้รบในเวลาต่อมา


ในขณะเกิดการรบระหว่างไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส ได้มีการถ่ายทำเป็นภาพยนตร์อยู่หลายเรื่อง และนำออกฉายตามโรงภาพยนตร์ หลักฐานทางเอกสารที่ค้นพบมีอย่างน้อยสองเรื่อง คือเรื่อง “รวมไทย” สร้างโดย กรมสาธารณสุขและกรมรถไฟ ถ่ายทำโดย ม.จ. ศุกรวรรณดิศ ดิศกุล นายช่างถ่ายหนังแห่งกรมรถไฟ และนายฟื้น เพ็งเจริญ นายช่างถ่ายหนังของกรมสาธารณสุข อีกเรื่องหนึ่งคือ “ใจไทย”  สร้างโดย กรมสาธารณสุขและกรมประชาสงเคราะห์

 

ภาพยนตร์เรื่อง “รวมไทย” นี้หอภาพยนตร์มีหนังสือสูจิบัตร ทำให้ทราบเลา ๆ ว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร แต่เรื่อง “ใจไทย” ไม่มีหนังสือ คงพบแต่บทความในวารสาร ซึ่งบรรยายให้เห็นการดำเนินเหตุการณ์ในหนังเช่นกัน 


ภาพยนตร์สองเรื่องนี้เราเคยเชื่อว่าสูญหายไปแล้ว จนเมื่อวันหนึ่งคุณเรืองยศ พิบูลสงคราม ลูกสะใภ้ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้พบฟิล์มซึ่งเก็บไว้ในบ้านโดยบังเอิญ และนำมามอบให้หอภาพยนตร์ คุณเรืองยศเล่าว่าฟิล์มเหล่านี้น่าจะเป็นฟิล์มที่จอมพล ป. ถ่ายภาพยนตร์เหตุการณ์ในครอบครัวด้วยตนเอง อย่างที่เรียกว่า หนังบ้าน หน้ากล่องฟิล์มภาพยนตร์ส่วนใหญ่เขียนด้วยลายมือหวัด ๆ เหมือนเป็นการจดบันทึกช่วยจำของผู้ถ่าย 


เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจฟิล์มม้วนหนึ่ง ขนาด 16 มม. ขาว-ดำ ไม่มีเสียง ไม่มีชื่อเรื่องบนฟิล์ม ส่องดูเห็นเป็นภาพเหตุการณ์การสู้รบ จึงเอะใจและได้ดำเนินการแปลงสัญญาณฟิล์มภาพยนตร์เป็นวีดิโอ เพราะฟิล์มต้นฉบับอยู่ในอาการเสื่อมสภาพหนัก คาดว่าคงจะเก็บในที่ชื้นหรืออาจจะโดนน้ำ จึงไม่สามารถเข้าเครื่องพิมพ์หรือเครื่องฉายได้ ภาพที่พอจะเหลือให้เราได้เห็น เป็นภาพเหตุการณ์การเดินขบวนเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส ภาพการลำเลียงกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพไทยไปสู้แนวรบ ภาพในสนามรบ ภาพจอมพล ป. เดินทางไปเยี่ยมทหารชายแดนอรัญประเทศ ภาพการอพยพราษฎร ภาพการแจงให้ราษฎรทราบถึงความจำเป็นที่รัฐบาลต้องทำสงคราม


หอภาพยนตร์ได้ศึกษาภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ ในภาพยนตร์ โดยศึกษาเปรียบเทียบกับข้อมูลของภาพยนตร์ “รวมไทย” และ “ใจไทย” เท่าที่มีอยู่ ที่สุดก็ลงความเห็นว่า ภาพยนตร์ที่ได้รับจากคุณเรืองยศนี้ น่าจะเป็นภาพยนตร์เรื่อง “รวมไทย”  


ภาพยนตร์ม้วนนี้ ไม่ว่าที่สุดแล้ว จะคือ “รวมไทย” จริงหรือไม่ก็ตาม มีคุณค่ายิ่งในฐานะภาพยนตร์บันทึกกรณีพิพาทไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศสเพียงชิ้นเดียวที่เหลืออยู่ เป็นเอกสารประวัติศาสตร์สำคัญบทหนึ่งของชาติซึ่งไม่อาจทดแทนได้จากเอกสารอื่น ๆ โดยเฉพาะตัวอักษร