ความยาว 10 นาที
ฟิล์ม 35 มม. / ขาว-ดำ / เงียบ
ผู้สร้าง Richard Berton Holmes
เอกสารและข้อเขียนด้านประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย เคยกล่าวว่า การถ่ายทำภาพยนตร์ครั้งแรกในประเทศไทย เริ่มโดยฝรั่งชาวอเมริกัน ชื่อ ริชาร์ด เบอร์ตัน โฮล์ม ได้เดินทางเข้ามาถ่ายทำในสมัยรัชกาลที่ ๕ ราวปี พ.ศ. ๒๔๕๓ โดยถ่ายทีโ่รงเรียนนกลุสตรีวังหลัง หรือโรงเรียนแหม่มโค (ซึ่งปัจจุบัน คือ บริเวณโรงพยาบาลศิริราช) แสดงวัฒนธรรมขนบธรรมเนียม ของชาวสยาม แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีใครได้เห็นภาพยนตร์ดังกล่าว นอกจากการค้นพบข้อเขียนของ ต. ประทีปเสน ครูโรงเรียนสตรีวังหลัง ซึ่งต่อมาย้ายไปอยู่ที่บางกะปิและเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนวัฒนา วิทยาลัย เธอเล่าว่าครั้งหนึ่ง ฝรั่งชื่อริชาร์ด เบอร์ตัน โฮล์ม ชาวอเมริกันได้เข้ามาติดต่อ แหม่มโคเจ้าของโรงเรียน ขอใช้สถานที่และ ครูนักเรียนเป็นตัวแสดงภาพยนตร์ เพื่อสาธิต วัฒนธรรม ขนบประเพณีของชาวสยาม เช่น การแต่งตัวของสตรี และเด็ก การต้อนรับขับสู้ ของเจ้าของบ้านเมื่อมีแขกมาเยือน การละเล่น ของเด็กนักเรียน เธอเล่าว่าแหม่มโคยอมให้ นายโฮล์มถ่าย เพราะเวลานั้นต้องการเงินไว้ สำหรับการย้ายโรงเรียนจากวังหลังไปบางกะปิ จึงขอให้ฝรั่งจ่ายเงินช่วยโรงเรียนด้วย
ริชาร์ด เบอร์ตัน โฮล์ม เป็นผู้มีอาชีพชื่อเสียงในการบรรยายเรื่องบ้านเมืองประเทศต่าง ๆ โดยการตระเวนเดินทางท่องเที่ยวไปทั่วโลก เพื่อถ่ายภาพและภาพยนตร์ แล้วนำออกจัดฉายประกอบการบรรยายเก็บค่าชมจากผู้สนใจชมในสหรัฐอเมริกา จากการค้นคว้าข้อมูล พบหลักฐานว่าปี พ.ศ. ๒๔๕๓ มีคณะถ่ายทำภาพยนตร์ของบริษัทเบอร์ตันโฮล์ม เดินทางเข้ามาถ่ายทำจริง แต่ตัวโฮล์มเองไม่ได้เดินทางเข้ามาด้วย ทว่าในปี ๒๔๖๓ เขาและคณะได้เดินทางเข้ามาสยามอีกครั้งและถ่ายทำภาพยนตร์เพื่อแสดงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวสยาม สำหรับนำออกฉายประกอบการบรรยายของเขาในสหรัฐอเมริกา
หอภาพยนตร์ได้เคยพบฟิล์มภาพยนตร์บันทึกเกี่ยวกับบ้านเมืองและชีวิตชาวสยามจากประเทศสวีเดน เป็นบางส่วนของภาพยนตร์ของเบอร์ตัน โฮล์ม แต่มีเพียงบางส่วน แสดงการแต่งกายโดยเฉพาะวิธีนุ่งผ้า โจงกระเบนของสตรี ต่อมา ได้พบว่ามีผู้เผยแพร่ภาพยนตร์ของเบอร์ตัน โฮล์ม บนยูทูบ เรื่อง Thailand In Siamese Society circa 1925 พบว่าคือ ภาพยนตร์ที่เบอร์ตันโฮล์มเข้ามาถ่ายในครั้งที่ ๒ ปี ๒๔๖๓ แสดงเรื่องราวสอดคล้องกับที่ ต. ประทีปเสนเขียนเล่าไว้