ความยาว 69.20 นาที
ฟิล์ม 35 มม. / ขาว-ดำ / เสียง
ออกจะเป็นเรื่องไม่ธรรมดา ที่มีฝรั่งจากประเทศห่างไกลจากประเทศไทยคือสวีเดน เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ประเภทเรื่องแสดงในประเทศไทย ใช้คนไทยในท้องถิ่นเป็นผู้แสดง เมื่อปี 2483 และที่น่าสนใจก็คือเรื่องที่เขาทำเป็นภาพยนตร์นั้น เป็นเรื่องปกติธรรมดาของวิถีการดำรงชีวิตของคนไทยส่วนใหญ่ในสมัยนั้น คือชีวิตชาวนา การทำนาข้าว ดังนั้น ย่อมต้องมีสาเหตุหรือแรงดลใจพิเศษอะไรบางอย่างที่ทำให้คนทำหนังอีกมุมโลกหนึ่งเดินทางมาทำหนังในที่อันห่างไกลจากที่และวิถีชีวิตของเขานักค้นคว้าประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยได้ค้นพบภาพยนตร์นี้ จากประกาศแจ้งความฉายภาพยนตร์นี้ในประเทศไทยเมื่อปี 2493 ที่ศาลาเฉลิมกรุง โดยใช้ชื่อไทยว่า “คู่ชีวิต” และต่อมาเมื่อเริ่มมีการจัดตั้งหอภาพยนตร์แห่งชาติราวปี 2526 หอภาพยนตร์ได้ขอบริจาคสำเนาฟิล์มภาพยนตร์เรื่องนี้ในฉบับย่อลงเป็นฟิล์ม 16 มม. เข้ามาประเทศไทย 1 ชุด เพื่อฉายรณรงค์ให้สังคมไทยเห็นคุณค่าความจำเป็นของการอนุรักษ์ภาพยนตร์ ภาพยนตร์เปิดเรื่องขึ้นที่บ้านของชาวสวีเดนครอบครัวหนึ่ง ซึ่งกำลังจะต้องย้ายออกจากบ้านไปอยู่ที่อื่น ทุกคนในบ้านกำลังช่วยกันเก็บของ ขณะกำลังเก็บของในครัว สมาชิกคนหนึ่งดึงกล่องบรรจุข้าวสารออกมาจากลิ้นชัก กล่องนั้นมีข้าวสารติดก้นอยู่สักกำมือ เด็ก ๆ ถามว่านี่เป็นกล่องบรรจุอะไร ผู้ใหญ่ตอบว่า นี่คือข้าว และถามเด็ก ๆ ว่า รู้ไหมว่าข้าวมาจากไหน ภาพยนตร์ซูมเข้าไปใกล้สุดที่เมล็ดข้าวในกล่อง และอธิบายต่ออย่างให้ความรู้ว่า ข้าวที่ดีที่สุดของโลกคือข้าวที่มาจากแหล่งผลิตที่ประเทศสยาม ภาพยนตร์แสดงด้วยภาพพิเศษเห็นเมล็ดข้าวกระเด็นออกจากภาพของแผนที่ทวีปเอเซีย ซึ่งเปิดให้เห็นว่าคือแผนที่ของประเทศไทย มีเสียงอธิบายว่า ดินแดนนี้คืออู่ข้าวของโลก แล้วจากนั้นภาพยนตร์ก็นำเข้าสู่เรื่องราวของชาวสยามกับการทำนาข้าว ผูกเรื่องให้เห็นตั้งแต่เริ่มต้น ชายหญิงคู่หนึ่งเข้าพิธีแต่งงานกัน แล้วออกจากหมู่บ้านไปหักร้างถางพงตั้งบ้านเริ่มต้นครอบครัวใหม่ หมู่บ้านให้แพะมาตัวหนึ่งให้เดินตามแพะไป แพะหยุดกินที่ใดก็หมายว่าที่ตรงนั้นเหมาะจะตั้งตนชีวิตทำกิน ผัวมีหมาไปตัวหนึ่ง เมียมีลิงไปตัวหนึ่ง ทั้งคู่ช่วยกันหักร้างถางพงเป็นที่ทำนา และสร้างกระต๊อบเป็นที่พักพิง เริ่มปลูกข้าว สักพักหนึ่งก็มีเสือลายพาดกลอนมารังควาญกินแพะเป็นอาหาร ผัวต้องสละหมาของตัวเป็นเหยื่อล่อจับเสือเพราะเมียไม่ยอมสละลิงผัวเอาหนังเสือไปขายที่ตลาดได้เงินมาอวดเมียว่าจะเอาไว้ซื้อควายมาช่วยไถนาเพราะตนสวมแอกไถไม่ไหวแล้ว แต่เจ้ากรรมลิงของเมียด้วยความซนประสาลิงรื้อค้นที่เก็บซ่อนเงิน ทำให้เงินหล่นลงกองไฟเตาหุงข้าวในบ้าน เงินก็ไหม้หมด ข้าวที่เพิ่งปลูกก็จะตายเพราะแล้ง ฝนฟ้าไม่ตก วันหนึ่งผัวจึงลาเมียว่าจะไปหางานทำเอาดาบหน้า ให้เมียอยู่ดูแลนาและบ้าน ผัวไปหางานได้เป็นคนบังคับช้างทำงานชักลากซุงในบริษัทป่าไม้ ซึ่งภาพยนตร์ถือโอกาสแสดงให้เห็นภาพการทำป่าไม้ในป่าภาคเหนือของสยาม ระหว่างนี้ทางบ้านนา ชาวบ้านพยายามต่อสู้กับภัยแล้งด้วยการลงแขกสร้างฝาย กั้นน้ำในลำน้ำ เพื่อนำมาใช้ทำนา ภาพยนตร์จึงแสดงให้เห็นภูมิปัญญาการทำฝายกั้นน้ำของชาวนาสยาม จนอยู่มาวันหนึ่ง ขณะผัวทำงานอยู่บนหลังช้างในป่าไม้ เห็นฝนฟ้ามาแล้วดีใจ อยู่ต่อไปไม่ได้ ขอเลกิ ทำงานเบิกเงินกลบั ไปหาเมยี และทำนาระหว่างทางได้แวะซื้อผ้าซิ่นฝากเมียและซื้อควายมาช่วยทำนา ฉากสุดท้าย ผัวมาถึงบ้าน เมียกำลังกวาดข้าวเปลือกในลาน เห็นผัวมาก็ดีใจ แต่นางก็กวาดข้าวใส่กำมือยื่นให้ผัวดูว่า ทำนาเกือบตายได้ข้าวกำมือเดียวภาพยนตร์เรื่องนี้ ฝรั่งจากแดนไกลซึ่งบริโภคข้าวที่ดีที่สุดในโลกจากแผ่นดินสยามซึ่งเป็นอู่ข้าวโลก เขาอาจจะรู้สึกอยากจะสร้างหนังเพื่อสดุดีสยามและชาวนาสยาม สาเหตุที่ผู้สร้างภาพยนตร์ชาวสวีเดนตกลงใจเดินทางมาถ่ายทำภาพยนตร์ในสยามอันไกลโพ้น ก็เพราะเขาได้รับคำเชิญชวนจากชาวสยามชั้นสูงทางภาคเหนือ จากการที่ได้ติดต่อทางธุรกิจกัน ภาพยนตร์ถ่ายทำโดยตลอดที่จังหวัดเชียงใหม่ บางฉากถ่ายในคุ้มเจ้าหลวงที่เชียงใหม่ ผู้แสดงล้วนเป็นคนในท้องถิ่น ตัวแสดงสำคัญคือ ผัวหนุ่มเมียสาว ซึ่งในหนังและไตเติลระบุว่า พ่อชาย แม่หญิง หอภาพยนตร์เคยนำภาพยนตร์นี้ไปฉายที่จังหวัดเชียงใหม่ เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ มาดูและเล่าว่า พ่อชายคือ นายติ๊บ แม่หญิงชื่อ คำปุ้ย ทั้งสองเป็นเด็กทำงานอยู่ในคุ้มเจ้าหลวงซึ่งคือบิดาของท่าน และเล่าสนุก ๆ ว่า หลังจากเล่นหนังนี้แล้วทั้งสองก็หนีตามกันออกไปจากคุ้ม ไปเป็นผัวเมียกันจริง ๆ แต่ต่อมาคำปุ้ยหนีกลับมา เพราะทนนายติ๊บไม่ได้ภาพยนตร์นี้ ปัจจุบันมีคุณค่าเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ เชิงสังคมวิทยา เชิงชาติพันธุ์ เชิงมนุษยวิทยา ภาษาศาสตร์ และเป็นบันทึกความทรงจำของยุคสมัยที่ฟื้นกลับมามีชีวิตชีวาทุกครั้งที่ฉาย