สันติ-วีณา

ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง / 115 นาที

30 ธันวาคม 2497

บริษัทสร้าง ฟาร์อีสต์ฟิล์ม และ หนุมานภาพยนตร์

ผู้อำนวยการสร้าง โรเบิร์ต จี นอร์ธ,รักษ์ ปัณยารชุน

ผู้กำกับ มารุต (ทวี ณ บางช้าง)

ผู้กำกับภาพ รัตน์ เปสตันยี

ผู้กำกับศิลป์ อุไร ศิริสมบัติ

ผู้แสดง พูนพันธ์ รังควร, เรวดี ศิริวิไล, วิชัย ภูติโยธิน, จมื่นมานพนริศร์, ร.ท. นูญ บุญรัตน์พันธ์, ด.ช. วีระชัย แนวบุญเนียร, ด.ญ. อนุฉัตร โตษยานนท์, ด.ช. พิบูล ทุมมานนท์


สันติ-วีณา เป็นเรื่องของ สันติ เด็กตาบอดซึ่งกำพร้าพ่อแม่ตั้งแต่ยังเด็ก ทุกเช้า วีณา เพื่อนบ้านวัยไล่เลี่ยกันจะช่วยจูงสันติไปโรงเรียน ทำให้ ไกร ซึ่งมีนิสัยเกเรไม่พอใจและหาเรื่องแกล้งสันติอยู่เป็นนิจ วันหนึ่งพระภิกษุวัยชราเพิ่งกลับจากธุดงค์แวะมาเยี่ยมสันติ และขอรับสันติไปอยู่ที่วัดเขาน้อย ตลอดเวลาที่สันติอาศัยอยู่ในถ้ำกับหลวงตา วีณายังคงแวะเวียนไปหาอย่างสม่ำเสมอ ทุกเย็นก่อนพระอาทิตย์จะตกดินสันติจะนั่งเป่าขลุ่ยบนก้อนหินข้างถ้ำรอคอยการมาของวีณา แต่แล้ววันหนึ่งวีณาก็หายไป สันติปฏิบัติอย่างเดิมวันแล้ววันเล่า โดยไม่รู้ว่าวีณาถูกกักตัวให้อยู่แต่ในบ้าน เพราะไกรกำลังให้แม่มาสู่ขอวีณา วีณาหอบเสื้อผ้ามาขอร้องให้สันติพาเธอหนี สร้างความโกรธแค้นแก่ไกรเป็นอันมาก สั่งลูกน้องตามล่าสันติกับวีณาอย่างบ้าคลั่ง และกระหน่ำชกสันติไม่ยั้งทันทีที่เจอตัว วีณารีบไปตามหลวงตามาช่วยได้ทัน สันติเอาแต่เหม่อลอยไร้สติอย่างหนักยิ่งรู้ว่าใกล้ถึงวันแต่งงานของวีณา จนไม่ได้ยินเสียงหินที่กำลังร่วงหล่นในถ้ำ หลวงตารีบวิ่งเข้าไปฉุดสันติและเป็นฝ่ายถูกก้อนหินทับตาย ตาของสันติมองเห็นอีกครั้ง ภาพแรกที่สันติเห็นคือภาพความตายของหลวงตาซึ่งเลี้ยงดูสันติมาตั้งแต่เด็ก สันติจึงตัดสินใจบวชเพื่อหาความสุขสงบอย่างแท้จริง


สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย คงจะคุ้นชื่อภาพยนตร์เรื่อง สันติ-วีณา เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องยาวเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลระดับนานาชาติ จากงานประกวดภาพยนตร์นานาชาติแห่งเอเชียอาคเนย์ ที่ประเทศญี่ปุ่น ในปีพ.ศ. 2497 ซึ่ง สันติ-วีณา ได้รับรางวัลถ่ายภาพยอดเยี่ยม (รัตน์ เปสตันยี) กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม (อุไร ศิริสมบัติ) และ รางวัลพิเศษจากสมาคมผู้สร้างภาพยนตร์แห่งอเมริกาในฐานะที่เป็นภาพยนตร์ที่แสดงวัฒนธรรมของเอเชียได้เป็นอย่างดี


นอกจากเรื่องราวความสำเร็จของการสร้างหมุดหมายสำคัญให้แก่วงการภาพยนตร์ไทยบนเวทีระดับนานาชาติแล้ว สันติ-วีณา ยังมีเรื่องราวความคับข้องใจของรัตน์ เปสตันยี ผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่ถูกเรียกเก็บภาษีจำนวนสูงถึง 5,000 เหรียญสหรัฐ เพื่อนำเข้ากล้อง Mitchell BNC ซึ่งเป็นรางวัลพิเศษที่ได้จากสมาคมผู้สร้างภาพยนตร์แห่งอเมริกา จึงทำให้ผู้สร้างต้องขอเปลี่ยนเป็นกล้อง Mitchell NC ซึ่งราคาถูกกว่าแทน แล้วนำส่วนต่างมาจ่ายเป็นค่าภาษี นอกจากนี้ ผู้สร้างยังถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าฟิล์มภาพยนตร์ต้นฉบับของ สันติ - วีณา ที่ถูกส่งกลับมาจากญี่ปุ่น ทำให้รัตน์ตัดสินใจทิ้งฟิล์มต้นฉบับไว้ที่ญี่ปุ่น ก่อนจะส่งต่อไปเก็บไว้ที่แล็บในประเทศอังกฤษ และสันนิษฐานว่าระหว่างขนส่งทางเรือฟิล์มต้นฉบับได้รับความเสียหาย จึงทำให้ที่ผ่านมาไม่มีการค้นพบฟิล์มต้นฉบับของภาพยนตร์เรื่องนี้ ส่วนฟิล์มที่ใช้สำหรับฉายก็ไม่หลงเหลืออยู่ในประเทศไทย


จนกระทั่ง ในปี 2557 หลังจากการหายสาบสูญไปนานกว่า 60 ปี หอภาพยนตร์ได้ค้นพบฟิล์มต้นฉบับภาพยนตร์เรื่องนี้ที่สถาบันภาพยนตร์อังกฤษ (British Film Institute) จากเบาะแสของ อลงกต ใหม่ด้วง นักวิจารณ์ภาพยนตร์ เจ้าของนามปากกา กัลปพฤกษ์ ซึ่งขณะนั้นกำลังศึกษาปริญญาเอกที่สหราชอาณาจักร ได้ไปติดต่อขอชมภาพยนตร์ไทยที่ห้องสมุดสถาบันฯ ซึ่งรายชื่อภาพยนตร์ไทยที่สถาบันฯ มีให้บริการมีชื่อภาพยนตร์ สันติ–วีณา อยู่ด้วย รวมทั้งพบสำเนาฟิล์มสำหรับฉายที่ China Film Archive ประเทศจีน และ the Gosfilmofond ประเทศรัสเซีย ก่อนจะนำมาบูรณะใหม่ในปี 2558 โดยบริษัท L’Immagine Ritrovata ที่อิตาลี จนแล้วเสร็จในปี 2559


หลังจากการบูรณะจนแล้วเสร็จ สันติ–วีณา ได้รับเกียรติให้ฉายรอบปฐมทัศน์ของโลกที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ในสาย Cannes Classics ซึ่งจะเลือกฉายภาพยนตร์เก่าอันทรงคุณค่าจากทั่วมุมโลกที่ได้รับการบูรณะแล้วอย่างดีมาจัดฉาย ช่วงระหว่างวันที่ 11-22 พฤษภาคม 2559 ตามด้วยการออกฉายรอบปฐมทัศน์ในไทย เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2559


ความสำเร็จในการค้นหาและการบูรณะภาพยนตร์ประวัตศาสตร์ สันติ–วีณา เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าหน้าที่การอนุรักษ์สื่อภาพยนตร์มีความสำคัญอย่างไร และการอนุรักษ์ไม่ได้มีความหมายแต่เพียงการเก็บรักษาภาพยนตร์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการศึกษาค้นคว้าข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ การจัดทำฐานข้อมูลภาพยนตร์และการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการบรูณะภาพยนตร์ นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการติดต่อเชื่อมสัมพันธ์กับหน่วยงานที่ทำการอนุรักษ์สื่อโสตทัศน์อื่น ๆ ทั่วโลกอีกด้วย


หมายเหตุ

ข้อมูลภาพยนตร์ที่อยู่ใน […] หมายถึง ข้อมูลที่หอภาพยนตร์สันนิษฐานขึ้นเนื่องจากยังไม่มีหลักฐานชัดเจน