กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้

ความยาว 130 นาที

ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง

วันแรกฉาย 25 มกราคม 2538

บริษัทสร้าง ไฟว์สตาร์โปรดักชั่น

ผู้อำนวยการสร้าง เจริญ เอี่ยมพึ่งพร

ผู้กำกับ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล

ผู้แสดง สันติสุข พรหมศิริ, จินตหรา สุขพัฒน์,ภูมิ พัฒนายุทธ, พรทิพย์ หวุ่น, มาตัง จันทรานี, รณรงค์ บูรณัติ, ด.ช. ปรมัติ ธรรมมล, ด.ช. ชาลี ไตรรัตน์, ฤกษ์ดี ศิริเจริญชัยสกุล, พันฤทธิ์ บุษราคัม, ภาพ ธรรมชาติ, จอย ฟารียา,จตุรงค์ ระแหง, เอกพล สุทธิกาวงศ์, ณรงค์ฤทธิ์ สุกาจารีวัฒน์, ด.ช. นิจิโรจน์ คุมสติ


ท่ามกลางชื่อเสียงและความสำเร็จของการสร้างภาพยนตร์ไทยชุด บุญชู ที่กลายเป็นยี่ห้อประจำตัวของผู้กำกับผู้ล่วงลับ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล บัณฑิตพยายามหาโอกาสสร้างสรรค์งานที่เขาต้องการ ทั้งในแง่บทที่หนักแน่นเนื้อหาวิพากษ์สังคม และปราศจากเสียงหัวเราะแบบที่ผู้ชมชาวไทยส่วนมากนิยม กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้ คือคำตอบที่ได้ และกลายเป็นผลงานที่ทำรายได้น้อยอย่างน่าใจหาย แต่ในขณะเดียวกันนักวิจารณ์ภาพยนตร์ต่างยกย่องให้เป็นงานที่ดีที่สุดของ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล เรียกได้ว่ารายได้ที่น้อยของ กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้ ไม่สามารถกลบคุณภาพที่ยอดเยี่ยมของภาพยนตร์เรื่องนี้แต่อย่างใด กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้ เล่าเรื่องรอยร้าวของครอบครัวหนึ่งที่ยากจะประสาน เมื่อไม่สามารถปรับความเข้าใจกันได้ ดำรง กับอาภา จึงตัดสินใจแยกทางกัน อาภาหอบลูกทั้งสามคนไปตั้งต้นชีวิตใหม่ในแฟลตใกล้ สำนักพิมพ์ที่ทำงาน ส่วนดำรงย้ายกลับไปอยู่ที่เชียงใหม่แต่เพียงลำพัง เมื่อพ่อซึ่งเคยเป็นที่พึ่งพิงหายไป มิหนำซ้ำแม่ยังเอาแต่บ้างาน ปล่อยปละละเลยลูก โอ๋ พี่สาวคนโตจึงตัดสินใจพาน้อง เดินทางไปหาพ่อที่เชียงใหม่ ระหว่างการเดินทางโอ๋ได้รู้จักกับนกแล เด็กจรจัดบนรถไฟ ซึ่งชักนำโอ๋เข้าไปพัวพันกับแก๊งค้ายาเสพติด เมื่อรู้ว่าลูกหายตัวไป อาภาจึงโทรไปขอร้องให้ดำรงช่วยออกตามหาลูกด้วยกันและได้ค้นพบว่าสิ่งสำคัญที่สุดยิ่งกว่าทิฐิของตนเองคืออะไร เมื่อตามหาลูกพบ ดำรงจึงกลับมาอยู่พร้อมหน้าครอบครัวอีกครั้งที่บ้าน หลังเดิมความพิเศษของภาพยนตร์เรื่องนี้คือการใส่ชั้นเชิงการเล่าเรื่อง โดยใช้นิทานที่ดำรงมักจะเล่าให้ลูก ๆ ฟัง มาคู่ขนานกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเด็กทั้งสามระหว่างเดินทางกลับมาหาพ่อ ภาพกระดาษตัดเป็นรูปตัวคนซึ่งเป็นอุปกรณ์การเล่านิทานเงากลายเป็นสัญญะของครอบครัวที่สมบูรณ์ที่เด็กทุกคนในเรื่องต่างโหยหา ในตอนท้ายของเรื่อง ถึงแม้ครอบครัวของดำรงกับอาภาจะกลับมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันอีกครั้ง บัณฑิตก็ไม่ได้มองโลกในมุมสวยงามอย่างเดียว เขากลับให้ตัวละครนกแลและพรรคพวกหนีออกจาก บ้านเด็กกำพร้า เพราะที่นั่นไม่สามารถตอบสนองความต้องการครอบครัวของพวกเขาการเลือกที่จบแบบทิ้งปัญหาเช่นนี้กระตุ้นให้ผู้ชมภาพยนตร์คิดต่อยอดจากภาพยนตร์มากกว่าจะปล่อยให้ภาพยนตร์เรื่องนี้จบไป บัณฑิตประณีตกับการสร้างภาพยนตร์ เรื่องนี้อย่างมาก เขาใช้ทุนสร้างสูงกว่าหนังเรื่องอื่น ๆ ในยุคเดียวกัน ในขณะที่ยุคนั้น ภาพยนตร์ไทยนิยมใช้การพากย์เสียงใส่ ภาพยนตร์สำหรับออกฉาย เพื่อตัดปัญหาเรื่องการควบคุมคุณภาพเสียงระหว่างถ่ายทำบัณฑิตคำนึงถึงความสมจริงของการแสดงด้วยการยืนยันที่จะใช้การบันทึกเสียงระหว่างถ่ายทำ ในส่วนของการกำกับ เนื่องจากมีนักแสดงนำเป็นเด็ก บัณฑิตคัดเลือกนักแสดงเด็กหน้าใหม่ที่ไม่เคยมีผลงานมาก่อน และเคี่ยวเข็ญให้แต่ละคนสามารถถ่ายทออารมณ์ของเด็กที่ไร้ที่พึ่งพิงจากครอบครัวได้เป็นอย่างน่าเชื่อถือ