เรื่องราวของสกาลา โรงภาพยนตร์อันโอ่อ่าที่เคยเป็น “ราชาโรงหนังแห่งสยาม” จากสถานที่ที่เคยเปรียบเสมือนสโมสรอันหรูหราให้ผู้คนได้นัดกันแต่งตัวสวยงามเพื่อมาดูหนัง ได้แปรสภาพเป็นดั่งวิหารทางภาพยนตร์อันเก่าแก่ ที่แทบจะคงรูปแบบดั้งเดิมนับแต่วันแรกฉาย ก่อนที่จะต้องปิดฉากบทสุดท้ายในวันที่ 5 กรกฎาคมนี้
---------
โดย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู
*ตีพิมพ์ครั้งแรกในจดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 58 กรกฎาคม-สิงหาคม 2563
ท่ามกลางวิบากกรรมที่ธุรกิจภาพยนตร์ทั่วประเทศต้องเผชิญจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หนึ่งในข่าวร้ายที่ทำให้แฟนหนังในเมืองไทยต่างพากันใจหายมากที่สุด คือข่าวการยุติการฉายภาพยนตร์ของโรงภาพยนตร์สกาลาที่แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายน จนสร้างความแตกตื่นให้ผู้คนในโลกออนไลน์ราวกับเกิดโศกนาฏกรรมย่อย ๆ
โรงภาพยนตร์สกาลา เปิดทำการเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2512 โดย คุณพิสิฐ ตันสัจจา “Showman” คนสำคัญของเมืองไทย ผู้ประสบความสำเร็จจากการบริหารโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย จนได้รับการชักชวนให้มาช่วยพัฒนาที่ดินบริเวณสี่แยกปทุมวันของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่นี่ คุณพิสิฐได้ลงทุนสร้างโรงภาพยนตร์ที่ทันสมัยขึ้นมาเริ่มจากสยาม ในปี 2509 และลิโด ปี 2511 ก่อนจะมาถึงสกาลา ซึ่งเป็นโรงสุดท้าย แต่เป็นโรงที่เขาตั้งใจจะเนรมิตให้สวยงามที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้สถาปัตยกรรมอันวิจิตรบรรจง จึงกลายเอกลักษณ์อันโดดเด่นของสกาลาเสมอมา ตัวโรงนั้นประกอบขึ้นจากการออกแบบในสไตล์อาร์ตเดโคของ พันเอก จิระ ศิลป์กนก สถาปนิกชื่อดัง มองไปด้านในจะเห็นบันไดขนาดใหญ่อันเป็นที่มาของชื่อ “Scala” ที่แปลว่า “บันได” ในภาษาอิตาลี ยืนสง่าต้อนรับคู่กับโคมไฟระย้าทรงหยดน้ำค้างแข็งขนาดยักษ์ และพาให้เดินขึ้นไปสู่โถงหน้าโรงภาพยนตร์ ที่ผสมผสานงานศิลปะระหว่างตะวันตกกับตะวันออกไว้ด้วยกัน ทั้งเพดานประดับแฉกลายสีทองอันกลมกลืนไปกับเสาคอนกรีตโค้งที่ตั้งอยู่เรียงราย โดยมีงานปูนปั้นที่แสดงถึงความบันเทิงของเอเชีย ทั้งบาหลี ญี่ปุ่น จีน อินเดีย และไทย รวมตัวกันอยู่บนผนัง งานตกแต่งภายในทั้งหมดของโรงภาพยนตร์นี้ เป็นผลงานของชาวฟิลิปปินส์ 2 คน คือ Mr. Ver Manipol และ Mr. Fred Pedring ซึ่งเชี่ยวชาญในด้านตกแต่งและปูนปั้น
หลังจากที่สกาลาและโรงหนังอีกสองโรงก่อนหน้าของคุณพิสิฐ หรือบริษัทเอเพกซ์ ได้ค่อย ๆ นำพาความคึกคักมาสู่พื้นที่ที่เคยเงียบเหงา จนเป็นส่วนสำคัญให้ที่แห่งนี้เติบโตเป็นทำเลทองทางธุรกิจที่เจริญที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ยุคสมัยอันรุ่งเรืองของโรงหนังขนาดใหญ่แบบโรงเดี่ยวหรือสแตนด์อโลนกลับเริ่มเสื่อมลง แต่สามทหารเสือแห่งย่านสยามสแควร์ยังคงยืนหยัดอยู่รอดมาได้นานกว่าอีกหลายโรงภาพยนตร์ร่วมรุ่น ก่อนที่ในปี 2553 สยามจะถูกไฟผลาญไปในระหว่างวิกฤติการณ์ครั้งใหญ่ทางการเมือง ส่วนลิโดที่ปรับตัวเป็นโรงหนังมัลติเพล็กซ์มาตั้งแต่ปี 2537 ก็ได้เปิดโรงฉายรอบสุดท้ายภายใต้การบริหารของบริษัทเอเพกซ์ไปเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา ทิ้งให้สกาลาได้ “สแตนด์อโลน” หรือยืนอยู่โดดเดี่ยวอย่างแท้จริง ท่ามกลางโรงหนังและรูปแบบการชมภาพยนตร์ใหม่ ๆ ที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง