ชีวประวัติจากคำบอกเล่าของ ปง อัศวินิกุล ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2563 ตำนานแห่งนักบันทึกเสียง-ผสมเสียงผู้มีเรื่องราวชีวิตเชื่อมโยงกับการเติบโตของวงการภาพยนตร์ไทยอย่างแยกไม่ออกตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา
----------------------------
โดย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู
* พิมพ์ครั้งแรกในจดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 63 พฤษภาคม-มิถุนายน 2564
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ปง อัศนิวิกุล ได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติประจำปี 2563 สาขาศิลปะการแสดง (ผู้กำกับระบบเสียง–สร้างสรรค์ และบันทึกเสียงภาพยนตร์) เป็นเกียรติยศล่าสุดท่ามกลางรางวัลและคุณูปการมากมายจากงานทำเสียงให้แก่ภาพยนตร์มาทั้งชีวิต
ในวาระสำคัญนี้ ทีมงานหอภาพยนตร์ได้เดินทางไปคารวะคุณปงในวัย 90 ปี ที่ห้องบันทึกเสียงรามอินทราซึ่งเขาเป็นผู้ก่อตั้ง และขอสัมภาษณ์ถึงเส้นทางการทำงาน โดยมี สุนิตย์ อัศวินิกุล ลูกชายผู้สืบสานงานทำเสียงภาพยนตร์มาร่วมสนทนา และนี่คือบางส่วนของประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่าที่เราได้รับในวันนั้น
จุดเริ่มต้นที่หนุมานภาพยนตร์
ปง อัศวินิกุล เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2473 เมื่ออายุได้ราว 20 ปีเขาได้ก้าวเข้ามาสู่วงการภาพยนตร์ ด้วยการเป็นผู้ช่วยกล้องของ รัตน์ เปสตันยี ในการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องแรกชื่อ ตุ๊กตาจ๋า ออกฉายในปี 2494
ตุ๊กตาจ๋า เป็นภาพยนตร์ 16 มม. พากย์ ตามรูปแบบนิยมของหนังไทยในเวลานั้น ต่อมารัตน์ได้ลงทุนสร้างโรงถ่าย “หนุมานภาพยนตร์” เพื่อถ่ายภาพยนตร์เสียง 35 มม. มาตรฐานสากล โดยปงได้รับมอบหมายให้ศึกษาอุปกรณ์ใหม่ ๆ ที่รัตน์และหุ้นส่วนคือ โรเบิร์ต จี นอร์ธ สั่งเข้ามาจากสหรัฐอเมริกา รวมทั้งได้เริ่มต้นเรียนรู้และฝึกฝนด้านการทำเสียงในการสร้างภาพยนตร์เรื่องแรกของโรงถ่ายคือ สันติ-วีณา ซึ่งได้ฉายและได้รางวัลในการประกวดภาพยนตร์นานาชาติแห่งเอเชียอาคเนย์ ครั้งที่ 1 ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ พ.ศ. 2497
ภาพ: ปง อัศวินิกุล ในกองถ่ายภาพยนตร์เรื่อง สันติ-วีณา (2497)
อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นภาพยนตร์เสียง 35 มม. แต่เสียงสนทนาใน สันติ-วีณา นั้น เป็นการพากย์ลงฟิล์มภายหลัง ในขณะที่เครดิตผู้บันทึกเสียงในภาพยนตร์เป็นของ ลีโอนาร์ด ลี ปีถัดมาหนุมานภาพยนตร์ได้สร้าง ชั่วฟ้าดินสลาย ซึ่งเป็นผลงานเรื่องแรกที่บันทึกเสียงขณะถ่ายทำและเรื่องแรกที่ปงได้ทำหน้าที่ผู้บันทึกเสียงอย่างเต็มตัว โดยอุปสรรคในการถ่ายทำบางฉากนั้นยังคงอยู่ในความทรงจำ
“ตอนที่ไปถ่ายที่น้ำตกที่เชียงใหม่ ถ่ายวันแรกยังไม่จบ พอกลางคืนฝนตกข้างบนภูเขา รุ่งเช้าไปถ่าย เสียงน้ำมันไหลแรงกว่าเดิมมาก เพราะฝนมันตกกลางคืน เสียงน้ำมันก็ดังขึ้น เสียงในฉากเลยไม่เท่ากัน”
การทำหน้าที่ใน ชั่วฟ้าดินสลาย ทำให้ปงได้รับเกียรติยศแรกของชีวิต เป็นรางวัลบันทึกเสียงยอดเยี่ยมในการประกวดภาพยนตร์ไทยครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2500 และได้อีก 2 ครั้งติดต่อกันจาก รักริษยา (2501) ผลงานของกรรณสูตภาพยนตร์ที่ถ่ายทำในโรงถ่ายหนุมานฯ และ โรงแรมนรก (2500) ของรัตน์ เปสตันยี
ภาพ: ปง อัศวินิกุล ขณะถ่ายเสียงลงฟิล์มระบบออปติคัล ที่โรงถ่ายหนุมานภาพยนตร์
ที่มาภาพ: พูนศักดิ์ อุทัยพันธุ์
นับตั้งแต่นั้น ปง อัศวินิกุล ก็รับหน้าที่บันทึกเสียงให้แก่ภาพยนตร์ที่ รัตน์ เปสตันยี กำกับทุกเรื่อง ทั้ง สวรรค์มืด (2501) แพรดำ (2504) และ น้ำตาลไม่หวาน (2507) ซึ่งได้รับรางวัลบันทึกเสียงยอดเยี่ยมอีกครั้ง รวมถึงเรื่องอื่น ๆ ที่เช่าโรงถ่ายหนุมานฯ จนกระทั่งเกิดจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิต
“วันนั้นผมไปช่วยเพื่อนผมถ่ายหนังเรื่อง แก้วแก่นกล้า เป็นหนัง 16 มม. คุณรัตน์เขาก็เรียกหาตัวแต่เช้า สักพักผมกลับมา เขาบอกว่า เมื่อเช้าไปไหนมา ถ้าผมโกหก ผมก็ไม่ต้องออกจากหนุมาน แต่ผมไม่โกหก ผมบอกว่าผมไปช่วยเพื่อนเปิดกล้อง แกก็ว่าเห็นคนอื่นดีกว่าฉันแล้วเหรอ ผมก็บอกว่า ช่วงนั้นหนุมานงานไม่ค่อยมี ผมเลยขอถือโอกาสนี้ลาสักหนึ่งเดือน ไปช่วยเขาถ่ายหนังเรื่องนี้ให้จบ คุณรัตน์เขาบอกว่า ลาทำไม ก็ลาออกเสียเลยสิ เราก็สะเทือนใจเหมือนกัน ผมไม่ได้ขึ้นไปห้องทำงานเลย นั่งอยู่ข้างล่างหน้าห้องครัวของคุณรัตน์ตลอดทั้งวัน รุ่งเช้าผมก็ไม่ได้ไปทำงาน ท่านก็โทรไปถามที่ถ่ายหนังทุกแห่ง อย่างอัศวินภาพยนตร์ ถามว่าปงมันมาหรือเปล่าอะไรทำนองนี้
“ผมก็ไปที่อัศวินภาพยนตร์เหมือนกัน คิดว่าจะไปของานทำ ไปถึงเห็นพระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล (เจ้าของอัศวินภาพยนตร์ – ผู้เขียน) กำลังทำอะไรอยู่กับคนของท่าน พอเห็นแล้วผมเกิดตัดสินใจตรงนั้นว่า ผมขอมีนายคนเดียว ผมจะไม่ไปรับจ้างกินเงินเดือนใคร ไม่มีนายคนที่สอง จากนั้นผมก็ไม่ได้ทำงานให้ใครอีก แล้วก็ออกมารับงานเอง”
แม้จะต้องออกจากหนุมานภาพยนตร์ แต่รูปถ่ายของรัตน์ในโรงถ่ายแห่งนี้ที่ปงนำมาขยายใหญ่ใส่กรอบประดับไว้ในห้องบันทึกเสียงรามอินทรา บ่งบอกให้เรารู้ว่าเขายังคงรำลึกถึงครูและเจ้านายคนเดียวในชีวิตอยู่เสมอ
คนทำเสียงมือหนึ่งของวงการหนังไทย
“พอออกมา งานแรกที่รับก็คืองานของ เชิด ทรงศรี เขาถ่ายหนัง 16 แล้วก็มีเพลง 35 ผมไปรับทำเพลงให้เขา เพลงหนึ่งหมื่นห้า สี่เพลงก็หกหมื่น ก็มีทุนแล้ว (หัวเราะ)
“ตอนนั้นบุศยพรรณของคุณปริญญา (ปริญญา ทัศนียกุล เจ้าของโรงหนังบุศยพรรณและผู้สร้างภาพยนตร์ – ผู้เขียน) เขามีกล้อง 35 ผมก็เช่ากล้องเขาไปถ่าย”
ภาพ: ปง อัศวินิกุล (ที่สองจากขวา) กับกล้อง Arriflex ที่ซื้อมาใช้งาน และ ก้องเกียรติ อัศวินิกุล (สวมแว่นดำ) หลานชายที่เป็นตากล้องถ่ายหนัง
ที่มาภาพ: พูนศักดิ์ อุทัยพันธุ์
ช่วงทศวรรษ 2510 ที่ ปง อัศวินิกุล ออกจากหนุมานภาพยนตร์ หนังไทย 16 มม. หลายเรื่องจะมีฉากเพลงที่ถ่ายทำด้วยระบบ 35 มม. เสียงในฟิล์มเป็นจุดขาย ปงได้เช่ากล้องมารับจ้างถ่ายทำฉากเพลงเหล่านี้ และนำฟิล์มไปทำแล็บที่ฮ่องกง ด้วยในเวลานั้นยังไม่มีแล็บภาพยนตร์ 35 มม. มาตรฐานในเมืองไทย โดยจะพิมพ์สำเนาเป็นฟิล์ม 35 มม. 3 สำเนา สำหรับโรงหนังในกรุงเทพฯ ที่มีเครื่องฉาย 35 มม. (ฉากเพลงจะฉายแยกจากฉากทั่วไปที่ฉายด้วยเครื่อง 16 มม.) และฟิล์ม 16 มม. 2 สำเนา สำหรับจัดฉายในต่างจังหวัดที่ไม่มีเครื่องฉาย 35 มม. ไม่นาน เขาก็ได้เปิดบริษัทแรกในชีวิตชื่อ MPA Service ซึ่งย่อมาจากชื่อภาษาอังกฤษ Mr. Pong Asvinikul โดยลงทุนซื้อกล้อง 35 มม. ยี่ห้อ Arriflex เพื่อมารับจ้างถ่ายทำ รวมทั้งให้ผู้สร้างรายอื่นเช่า
ในช่วงนั้น การสร้างหนังไทยค่อย ๆ เปลี่ยนผ่านจากระบบ 16 มม. พากย์ เป็น 35 มม. เสียงในฟิล์ม แต่เกือบทั้งหมดยังเป็นการพากย์เสียงทับภายหลัง จากแค่เสียงในฉากเพลง ปงจึงได้รับงานเป็นคนมิกซ์ (mix) หรือผสมเสียงภาพยนตร์ทั้งเรื่อง ทั้งเสียงพากย์ เสียงเพลง ชาวนด์เอฟเฟกต์หรือเสียงประกอบ (foley) ที่แล็บในฮ่องกง ด้วยความที่รู้ภาษาจีนผนวกกับทักษะที่สั่งสมมาตั้งแต่อยู่หนุมานภาพยนตร์ เขาจึงแทบจะเป็นคนไทยคนเดียวที่ทำหน้าที่นี้ และนอกจากฮ่องกง ปงยังเคยไปทำที่แล็บในญี่ปุ่น โดยมีล่ามชาวไต้หวันคอยช่วยสื่อสาร
ภาพ: ปง อัศวินิกุล ขณะซิงค์เสียงในแล็บที่ประเทศญี่ปุ่น
ที่มาภาพ: พูนศักดิ์ อุทัยพันธุ์
ในฐานะคนทำเสียงมือหนึ่งของวงการ ปง อัศวินิกุล ถือเป็นกลไกสำคัญในการเปลี่ยนระบบและเติบโตของหนังไทยในยุค 35 มม. แทบทุกเดือนเขาต้องจับเครื่องบินไปต่างประเทศเพื่อทำเสียงของภาพยนตร์แต่ละเรื่องให้สมบูรณ์ โดยมี สุนิตย์ อัศวินิกุล ลูกชายซึ่งคลุกคลีกับกิจการทำหนังของครอบครัวมาตั้งแต่เด็กเป็นผู้ช่วย
“ช่วงที่หนังไทยพากย์แล้วไปมิกซ์ที่ฮ่องกง ที่พ่อผมรับทำเสียง พากย์เสร็จ วางเพลงเสร็จ แล้วก็ทำเอฟเฟกต์ที่ฮ่องกง ผมไปกับพ่อผมสลับกัน รู้สึกว่าสิบวันกับเจ็ดวัน พ่อผมกลับ ผมก็ขึ้นไปต่อ สลับกันคนละเรื่อง
“ค่าพากย์ ค่าห้องพากย์ ค่าวางเพลง ค่าพิมพ์ฟิล์ม เจ้าของหนังเป็นคนจ่าย เราแค่เป็นคนเอาเสียงมารวม ส่วนค่าทำเอฟเฟกต์ โฟลีย์ เราจ่าย ค่าสิ่งต่าง ๆ ที่ไปทำที่ฮ่องกงเราเหมาหมด” สุนิตย์กล่าว
เปิดห้องบันทึกเสียงรามอินทรา
ภาพ: ปง และ สุนิตย์ อัศวินิกุล ในห้องบันทึกเสียงรามอินทรา ณ ปัจจุบัน
เมื่อได้เรียนรู้เทคนิคการทำเสียงที่ต่างประเทศจนแตกฉาน ประกอบกับงานที่มากจนล้นมือ ปงจึงตัดสินใจสร้างห้องบันทึกเสียงเป็นของตัวเองที่ย่านรามอินทราเพื่อให้สามารถรับงานได้อย่างเต็มที่
“พ่อผมบอกมาทำห้องเสียงในเมืองไทยเองดีกว่า เพราะขนาดฮ่องกงไกลกว่าเรา และบางทีมีเสียงอะไรบางอย่างที่ไม่เหมือนบ้านเรา ก็ยังต้องบินไปทำที่ฮ่องกงกัน จากกรุงเทพฯ ไปรามอินทราตอนนั้นก็ถือว่าไกลมาก แต่ขนาดฮ่องกงก็ยังไป”
ห้องบันทึกเสียงรามอินทรา เปิดกิจการเมื่อ พ.ศ. 2520 จากที่ช่วงแรกยังต้องไปทำเสียงเอฟเฟกต์หรือโฟลีย์ที่ฮ่องกง ปงได้ส่งสุนิตย์ไปศึกษางานและนำมาพัฒนา รวมทั้งขายกล้องเพื่อซื้ออุปกรณ์ทำเสียงที่ทันสมัย จนทำให้ห้องบันทึกเสียงแห่งนี้สามารถปฏิบัติการได้ครบทุกขั้นตอน กลายเป็นสถานที่ทำเสียงให้หนังไทยจำนวนมาก
พ.ศ. 2536 ห้องบันทึกเสียงรามอินทราได้ก้าวไปอีกขั้น เมื่อได้รับลิขสิทธิ์ในการทำเสียงภาพยนตร์ระบบของบริษัท Dolby ประเทศอังกฤษ เป็นแห่งแรกของไทยก่อนหน้าฮ่องกง เริ่มจาก Dolby SR ทำให้ที่นี่มีโอกาสทำเสียงให้แก่ผลงานของผู้กำกับเอเชียคนสำคัญ และผสมเสียงพากย์ไทยให้ภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่องดังหลายเรื่อง
ภาพ: ป้ายรับรองระบบเสียงของ Dolby ในห้องบันทึกเสียง รามอินทรา ณ ปัจจุบัน
“หนังฝรั่งเรื่องแรกที่ทำดอลบี้ที่นี่คือ Speed ส่วนหนังไทยคือ ฉลุยหิน เรื่องนี้คนด้านเทคนิคของดอลบี้เขามาดูแลให้คำแนะนำ ส่วนผู้กำกับที่เคยมาทำก็มี หว่องกาไว, เอ็ดเวิร์ด หยาง, แอนน์ ฮุย และอีกหลายคน สมัยก่อนหนังไต้หวันก็เยอะ แต่ช่วงหลังรัฐบาลเขาไม่ให้มาทำหนังนอกประเทศ ถ้าออกมาเขาจะไม่ให้เงินสนับสนุน เมื่อก่อนอย่างหนังเกาหลีผมก็มิกซ์ให้อยู่ รัฐบาลเวียดนามเขาก็เคยส่งคนมาดูงานที่นี่” สุนิตย์กล่าว
ตลอดหลายปีที่ปงได้ทำหน้าที่เป็นหัวเรือใหญ่ในการพาห้องบันทึกเสียงรามอินทราก้าวไปจนได้รับการยอมรับในระดับสากล แต่ท่ามกลางความรุดหน้าไปของเทคโนโลยีที่ต้องคอยตามให้ทันอยู่เสมอ สิ่งหนึ่งซึ่งไม่เคยเปลี่ยนแปลงและไม่อาจมีใครก้าวขึ้นมาทำแทนนั่นคือการถ่ายเสียงลงฟิล์ม ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่ปงต้องปฏิบัติเองทุกครั้งราวกับเป็นเคล็ดวิชาโบราณที่เขาฝึกฝนมาจนช่ำชอง
“ในบ้านนี้เขาไม่ไว้ใจให้ใครทำ (หัวเราะ) ผมเองก็ไม่รู้เท่าพ่อ พ่อผมเขารู้เยอะ ทั้งเรื่องตั้งแสง เรื่องอะไร เขาได้มาจากที่หนุมานทั้งหมดเลย ล้างฟิล์ม พิมพ์ฟิล์ม เรื่องน้ำยา เขารู้หมด”
ภาพ: สุนิตย์ อัศวินิกุล กับเครื่องออปติคัลที่ปลดระวางและเตรียมส่งมอบให้หอภาพยนตร์
อย่างไรก็ตามเมื่อโลกภาพยนตร์เปลี่ยนผ่านจากฟิล์มไปสู่ดิจิทัลทั้งระบบ ราว 10 ปีที่ผ่านมา ปง อัศวินิกุล จึงได้เวลาเกษียณตัวเองออกมาเป็นที่ปรึกษาให้ครอบครัว พร้อม ๆ เครื่องถ่ายเสียงลงฟิล์มระบบออปติคัลที่จำต้องปลดระวางลง และเตรียมส่งมอบให้หอภาพยนตร์นำมาอนุรักษ์ เพื่อให้อนุชนได้เรียนรู้ถึงเครื่องมืออันเป็นที่รักและเป็นหลักฐานแห่งความอุตสาหะของนักทำเสียงผู้กลายเป็นตำนานบทสำคัญแห่งวงการภาพยนตร์ไทย
เมื่อถามว่าภาพยนตร์เรื่องไหนที่เขาทำแล้วประทับใจที่สุด ปงตอบอย่างซื่อสัตย์ต่องานทุกชิ้นของตนว่า
“ไม่มีเรื่องไหนที่ภูมิใจ มันเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ ไม่มีเรื่องอะไรให้ภูมิใจ”
*--------------*
ชม โรงแรมนรก (2500) หนึ่งในผลงานการบันทึกเสียงของ ปง อัศนิวิกุล ได้ที่ https://youtu.be/DhmDwTffuQY
อ่าน ความทรงจำถึง “ปง อัศวินิกุล” และ “ห้องบันทึกเสียงรามอินทรา” ของ พูนศักดิ์ อุทัยพันธุ์