ความทรงจำถึง “ปง อัศวินิกุล” และ “ห้องบันทึกเสียงรามอินทรา” ของ พูนศักดิ์ อุทัยพันธุ์

ประสบการณ์การทำเสียงในภาพยนตร์มาหลายสิบปี ทำให้ ปง อัศวินิกุล ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2563 ได้รับการยกย่องและเคารพอย่างกว้างขวางจากบุคคลในวงการภาพยนตร์มากมาย  เพื่อให้ได้เห็นตัวตนคุณปงจากมุมมองของผู้ที่เคยร่วมงานด้วย หอภาพยนตร์จึงได้เชิญ พูนศักดิ์ อุทัยพันธุ์ นักลำดับภาพมือรางวัล ทั้งจากเรื่อง อนึ่ง คิดถึงพอสังเขป, ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด และ กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้ และผู้บันทึกเสียงภาพยนตร์ไทยอีกหลายเรื่อง เช่น อารีดัง, คนทรงเจ้า, ต้องปล้น มาเขียนบอกเล่าเรื่องราวความทรงจำที่มีต่อผู้ซึ่งเขานับถือเปรียบเสมือนพ่อ และตำนานของห้องบันทึกเสียงรามอินทรา ที่เขาผูกพันคลุกคลีมาตั้งแต่เริ่มต้น 


ความหลังอันพรั่งพรูจากผู้ที่เคยร่วมงานใกล้ชิดกับ ปง อัศวินิกุล มากที่สุดคนหนึ่ง ทำให้บทบันทึกชิ้นนี้เต็มไปด้วยรสชาติและมีชีวิตชีวา โดยเฉพาะฉบับที่ลงในเว็บไซต์หอภาพยนตร์นี้ ซึ่งเป็นข้อเขียนฉบับเต็มของคุณพูนศักดิ์ ก่อนที่หอภาพยนตร์จำต้องตัดทอนบางส่วนออกเพื่อนำลงในจดหมายข่าวฯ ฉบับที่ 63 เนื่องด้วยพื้นที่อันจำกัด 

---------------------


บรรยายภาพปก: (แถวหลังจากซ้ายไปขวา) พูนศักดิ์ อุทัยพันธุ์, ปง อัศวินิกุล, สุนิตย์ อัศวินิกุล และ ธนวุฒิ ศรีแก้ว (นั่งหน้า) อดีตเจ้าหน้าที่ซาวนด์เอนจิเนียร์ของห้องบันทึกเสียงรามอินทรา


---------------------------------

กำเนิด “ห้องบันทึกเสียง รามอินทรา”

---------------------------------

โดย พูนศักดิ์ อุทัยพันธุ์




ปี พ.ศ. 2515


ถนนรามอินทรา ยังเป็นถนนลาดยางรถวิ่งสวนทางและสภาพมีหลุมบ่อ สองข้างถนนเป็นคูคลองขนานยาวไปตลอดเส้นจากแยกวัดพระศรีฯ บางเขน ไปจนถึงตลาดมีนบุรี

การเดินทางโดยรถโดยสาร มีเพียงรถเมล์สาย 26 (เที่ยวสุดท้ายออกจากอนุสาวรีย์ชัยฯ สองทุ่ม ถ้าตกรถก็ตัวใครตัวมัน ต้องขึ้นสายอื่นมาให้ถึงวัดพระศรีฯ แล้วเดินกลับ 7 กิโล)

และรถ บ.ข.ส หมอชิต-ฉะเชิงเทรา เที่ยวสุดท้ายก็ประมาณตอนเย็น ๆ

พื้นที่ส่วนใหญ่ยังเป็นพื้นที่ทำนา และมีโครงการบ้านจัดสรรใหญ่เกิดขึ้นมาหลายโครงการ

มีโครงการหนึ่ง ชื่อว่า “หมู่บ้านรามอินทรานิเวศน์”

อยู่ตรง กม.7  ฝั่งตรงข้ามเป็นโครงการหมู่บ้านจัดสรรของกองทัพบกชื่อ “ปัฐวิกรณ์”

สมัยนั้นผมเพิ่งมาจากต่างจังหวัด จากสุราษฎร์ธานี เข้ามาเรียน มศ.4 (สมัยนั้นเรียกว่า ม.7)

อยู่ที่ รร. อำนวยศิลป์พระนคร พักอยู่ในบ้านเช่าแถวบางพลัดร่วมกับพี่ ๆ 

คุณพ่อได้ตัดสินใจมาซื้อบ้านในหมู่บ้านรามอินทรา ในหมู่บ้านนี้มีบ้านหลายแบบหลายราคาและยังคงมีอยู่ไม่กี่หลัง 


จุดเปลี่ยน..


เหตุเพราะผมไปสอบเทียบ มศ.5 ได้ เลยจบก่อนเพื่อน ๆ ชักผยอง ชีวิตเริ่มเปลี่ยนวิถีที่ควรจะเดินไปตามครรลองที่ดี..

ผมเป็นคนชอบดูหนังฟังเพลงมาตั้งแต่เด็ก ๆ พ่อเป็นข้าราชการระดับใหญ่พอสมควร ย้ายไปอยู่จังหวัดไหนก็เข้าดูหนังฟรีได้ ดูแล้วดูอีก ทุกเรื่องที่เข้าฉาย ทั้งเทศและไทย เลยเสพซึมซับเข้ากบาลมาตลอดโดยไม่รู้ตัว

ยุคนั้นฮิปปี้กำลังฮิต ผมเลยออกจากบ้านไปแสวงหาสิ่งที่ตัวเองอยากทำ ผมชอบฟังเพลงฝรั่งมาแต่เด็ก เลยไปร่วมกับพวก ๆ แถว ๆ นั้นตั้งวงดนตรี หัดเล่น แกะเพลง และร่วมเล่นเพลงร็อกกัน ซื้อเครื่องดนตรีโนเนม เครื่องเสียงก็ซื้อมาแถวบ้านหม้อ เริ่มเข้าสู่อบายมุขหลายอย่างที่ไม่รุนแรงต่อร่างกาย

พวกเราซ้อมดนตรีกันในบ้านของมือกลอง ซึ่งอยู่กลางท้องนาฝั่งหลังหมู่บ้านปัฐวิกรณ์ (ปัจจุบันน่าจะเป็นบริเวณใกล้ สำนักปฏิบัติธรรมบุญศรีมุณีกรณ์) ขนาดอยู่กลางท้องนา สายเพลงอันเดอร์กราวด์เสียงต้องดัง โดนชาวบ้านด่าทุกวัน


จนวันหนึ่ง..


ณ ที่สุดซอยที่ 11 ลึกสุดของโครงการ ติดคลองเล็ก ๆ ที่สามารถพายเรือทะลุไปได้หลายที่ในละแวก

มีบ้านแบบ B หลังหนึ่ง กำลังก่อสร้างแบบผิดรูปผิดแบบชาวบ้านทั่วไป ชั้นล่างยกสูงเหมือนจะเป็นโกดัง อะไรสักอย่าง

มี รปภ.ยืนเฝ้า ความอยากรู้เลยเข้าไปถามโฟร์แมนที่ก่อสร้าง เขาบอกว่ากำลังทำห้องอัดเสียงให้คน ๆ หนึ่งอยู่แถวหมอชิต ท่านจะมาดูงานทุกวันศุกร์ ผมเลยขออนุญาตเข้าไปชมภายใน คะเนแล้วการก่อสร้างภายในยังต้องทำกันอีกนานมาก แล้วความคิดหนึ่งของผมเกิดขึ้นมา

“หาทางยกเครื่องดนตรีของวงมาซ้อมในที่นี้”

ผมถามโฟร์แมนว่า ท่านจะมาอีกเมื่อไหร่? พอได้คำตอบ ผมก็ตั้งมั่นจะรอพบเจอให้ได้


วันที่เจอพ่อปง ครั้งแรก


พ่อปงมากับลูกชายคนโต สุรัชต์ อัศวินิกุล (เสียชีวิตแล้ว) กับรถเฟียตเก่า ๆ คันหนึ่ง

ผมเห็นท่านแล้ว ท่านเป็นคนเชื้อสายจีน เห็นครั้งแรกผมก็อินเลย พูดจาโอบอ้อมอารีกับคนงานก่อสร้างทุกคน 

โฟร์แมนแนะนำผมว่ามารอพบ ท่านหันมามองผม ผมเกิดพลังอะไรบางอย่าง เดินเข้าไปอธิบายสิ่งที่ต้องการตรงไปตรงมา

ท่านนิ่งมองผมสักพัก แล้วบอกตกลง แต่ขอให้ช่วยกันเฝ้าดูแลทรัพย์สินระหว่างการก่อสร้างให้ด้วย 

แล้วผมก็ได้เข้ามาอยู่กินใช้ชีวิตซ้อมดนตรี เฝ้าบ้านให้ท่านตั้งแต่บัดนั้น ท่ามกลางฝุ่นผง เสียงดังในการก่อสร้าง 

และที่ไม่ลืมฝังใจ แผ่นใยแก้วสำหรับบุผนังกันเสียง ที่ผมทะลึ่งไปนอนบนมัน (แผ่นนุ่ม ๆ แต่โดนแล้วคันแสบผิวตัวมาก ๆ)

ท่านได้อนุเคราะห์เตาไฟฟ้าเล็ก ๆ ข้าวสารหนึ่งกระสอบให้เป็นเบื้องต้น และจัดส่งกับข้าวใส่ปิ่นโตโดยแม่ผ่องศรี ภรรยาของท่าน นั่งรถ บขส. มาส่ง โดยพวกผมไปรอรับที่ป้ายรถเมล์ทุกเย็นทุกวันไม่เคยขาด


วันแรกที่เริ่มเข้าสู่กลิ่นอายของการทำหนัง



ภาพ: พูนศักดิ์ อุทัยพันธุ์ ภายในห้องบันทึกเสียงรามอินทรา 


พ่อปงพาผมไปที่บ้านไม้สองชั้นของท่านในซอยโชคชัยร่วมมิตร (ซอยทะลุหมอชิตกับช่องเจ็ด)

ผมได้เจอลูก ๆ ของท่าน ที่สำคัญคือได้เจอลูกชายคนที่สองของท่าน คือ “สุนิตย์ อัศวินิกุล”

ตอนนั้นน่าจะยังเรียนอยู่ “ดลพิทยา” เจอคนรุ่นผมหลายคนในละแวกนั้นที่มาช่วยงานท่านอยู่

ผมเจออุปกรณ์กล้องให้เช่า (ท่านเป็นตากล้องเก่าจากหนุมานภาพยนตร์)

ผมเจอเครื่องมือที่เรียกว่า แก๊งค์ (Gang) เครื่องตัดต่อหนังหลายแบบ และรุ่นใช้เท้ายี่ห้อ “Westrex”

ผมเห็นการกั้นห้องเล็ก ๆ เป็นห้องอัดเสียงในบ้านแบบคนสู้ชีวิตในวิชาชีพ..

จากนั้น..ท่านก็ให้ผมตามไปดูทุกที่ที่ท่านไปทำงานเรื่องเสียงบ่อย ๆ

ที่แรก ห้องบันทึกเสียง ศรีสยาม แถวดินแดง อุปกรณ์สำหรับบันทึกเสียงหนังเป็นระบบของ Westrex ฉายหนังเพื่ออัดเสียงแบบลูป สองเครื่องฉาย บันทึกลงเครื่องสปรอเก็ตแมกเนติก 17.5/35 มม.

ตอนนั้นยังมีห้องบันทึกเสียง “อัศวิน” อยู่อีกที่ ที่มีท่านอาจารย์ “เกษม มิลินทจินดา” เป็นผู้ควบคุมเสียง ซึ่งมีระบบที่สูงกว่าคือระบบ Lock & Roll.. และอุปกรณ์ระดับโลกเพียบ..

ท่านมาเช่าห้องเสียงศรีสยามเพื่ออัดเสียงพากย์ โดยให้หลานชายชื่อ “ประกิต (เฮียไฮ้) อัศวินิกุล” เป็นผู้ควบคุมเสียง (เฮียไฮ้ เป็นลูกของพี่ชายท่าน เสียชีวิตไปหลายปีแล้ว เป็นพี่ชายของ ก้องเกียรติ อัศวินิกุล ตากล้อง)..

ด้วยความเป็นคนอยากรู้อยากทำ ผมก็เริ่มช่วยเป็นคนเปลี่ยนลูปฟิล์มเครื่องฉาย เดินเครื่องฉาย ใส่เทปแมกเนติกเข้าเครื่อง แล้วลามปามมาถึงช่วยกดปุ่มบันทึกเสียง  ท่านเอางานมา “Sync Gang” (รวมเสียง) ที่บ้าน แล้วหอบงานผ่านดีแคลร์เดินทางไปทำงานขั้นตอนเสียง เอฟเฟกต์ เพลง ไฟนัลมิกซ์ ต่อในแล็บแมนดารินที่ฮ่องกง หรือ ฟูจิที่ญี่ปุ่น ทั้งด้านเสียงและภาพ  เรื่องหนึ่ง ๆ ท่านหายไปเกือบครึ่งเดือน  ผมเริ่มมองท่านเป็นไอดอลของผม


วันที่ห้องบันทึกเสียงรามอินทราเปิดบริการ



ภาพ: พูนศักดิ์ อุทัยพันธุ์  ขณะบันทึกเสียงภาพยนตร์ที่ห้องบันทึกเสียงรามอินทรา


ทีมงานชุดเดิมของท่าน มาทำงานในห้องที่เพิ่งเสร็จที่รามอินทราแบบไปกลับ ด้วยมีอุปกรณ์พื้น ๆ เครื่องฉายTokiwa มิกเซอร์ตัวเล็ก ๆ Nagra 4L + 4S  มันสมถะสุด ๆ และต้องใช้ฝีมือและทักษะมาก ๆ

ผมดูและจำได้ทุกขั้นตอน และได้มีโอกาสให้ลองทำดูเป็นบางครั้ง

พวกผมต้องขนเครื่องดนตรีออก ตัดสินใจยุบวง หลังไปเล่นดนตรีที่ รร.สยามคอนติเนลตัล ที่สุดท้าย 

แต่ยังอาศัยเฝ้าห้องอัดอยู่ เพราะส่วนอยู่อาศัยของท่านยังไม่พร้อม ท่านและครอบครัวยังไม่ได้ย้ายเข้ามา 

จนวันหนึ่ง ขณะบันทึกเสียงพากย์ภาพยนตร์ไทยเรื่องหนึ่ง อยู่ ๆ เกิดเหตุ เฮียไฮ้ ผู้ควบคุมเสียงป่วยกระทันหันต้องส่ง ร.พ. 

ขณะนั้นทีมพากย์ชุดใหญ่มาบันทึกเสียง ท่านมาเรียกผมให้ผมไปควบคุมเสียงแทน เพราะท่านต้องรีบไปขึ้นเครื่องบินไปฮ่องกง ผมงงมาก แต่ตลอดมาผมรู้ว่าระบบต้องทำยังไง? ก็เข้าไปทำหน้าที่ จนนักพากย์ทั้งหมดเห็นความผิดปกติหันมามองผม  ผมก็บอกไปตามเรื่องจริงว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วก็ทำงานต่อไปในแบบของผม ใช่คือใช่ ไม่ใช่ผมไม่ให้ผ่าน ก็โกลาหลพอสมควรจนเสร็จสิ้น..

(สุดท้าย..ภาพยนตร์เรื่องนั้นได้รางวัลตุ๊กตาทองนักพากย์ชายและหญิง)

ภาพลักษณ์ผมได้ความยอมรับขึ้นมา และได้นั่งทำตรงนั้นมาอีกหลายเรื่อง จนเฮียไฮ้หายกลับมาทำงานได้ ท่านและครอบครัวย้ายเข้ามาหมด ผมก็ยังอยู่ช่วยทำงาน แม้ไม่มีเงินเดือน แต่ท่านก็หยิบยื่นให้ตลอดตามสถานะและเวลา ของฝากแนววัยรุ่นจากฮ่องกงจากท่านมีมาฝากทุกเที่ยว จนรู้สึกอบอุ่น และรักเหมือนพ่ออีกคนหนึ่ง..

แล้วผมก็เรียกท่านว่า “ป๊ะ” ตามลูก ๆ ท่านมาแต่ตอนนั้น..

ท่านตัดสินใจขายกล้องถ่ายหนัง Arri ทั้งสองตัวพร้อมอุปกรณ์เพื่อมาซื้อเครื่องบันทึกเสียงและเครื่องตัดต่อให้ทันสมัยขึ้น เพื่อทำเสียงทุกขั้นตอนให้เสร็จในเมืองไทยที่รามอินทราเลย

จนวันหนึ่ง..ผมตัดสินใจว่าผมควรกลับไปอยู่กับครอบครัว เรียนให้จบปริญญาตรีซะที..

ผมบอกกล่าวลาท่านไม่กี่คำ..



วันที่ต้องหวนกลับ และต้องประกอบอาชีพนี้




วันนั้นผมอยู่กับพ่อแท้ ๆ สองคนในบ้านของพ่อในหมู่บ้านรามอินทรา ผมกำลังเดินสายไฟเพิ่มหลอดแสงสว่างรอบ ๆ บ้าน 

ท่านเดินมากับพี่เดียร์ ชุมพร เทพพิทักษ์ ผมก็ต้อนรับพาไปคุยกับพ่อผม แล้วผมก็ออกไปอยู่นอกบ้านห่าง ๆ ได้ยินพี่เดียร์พูดภาษาใต้กับพ่อจริง ๆ ของผม (ผมเพิ่งถามพ่อปงเมื่อวันที่ 29 มี.ค.ปีนี้ ว่าพ่อปงพูดอะไรกับพ่อผม พ่อปงจำได้ เล่าว่า “พ่อนายถามเราว่า อาชีพนี้เลี้ยงตัวได้เหรอ? เรายืนยันว่า ได้”) แล้วพ่อผมก็เรียกผมเข้าไปแล้วบอกว่า เอ็งกลับไปทำงานกับเขา พร้อมกับเรียนไปด้วย..

นั่นคือพลังที่ให้ผมเริ่มร่วมลุยสุดลิ่ม..

ตอนนั้นหนังไทยที่อัดเสียงในขณะถ่ายทำยังมีน้อยมาก ท่านเริ่มกู้หนี้ยืมสินมาลงทุนเพิ่ม  เพราะอุปกรณ์เปลี่ยนแปลงรุ่นเร็วและแพงมาก ๆ ห้องเสียงรามอินทราเริ่มมีเครื่องมือระดับสากลมากขึ้น ต่อเติมห้องบันทึกเสียงเพิ่มมากขึ้น ทำเสียงหนังจบในที่เดียว การทำเสียงกับภาพยนต์ที่ไม่มีเสียงมา มันท้าทาย มันเป็นศิลปะ

ผมดูแลด้านเสียงที่มาจากปาก, สุนิตย์ (เรียนอยู่ช่างกลอุตสาหกรรมหัวหมาก) ดูแลด้านซาวนด์เอฟเฟกต์, เพลงประกอบแล้วแต่จะจ้างใครมาจัดวางโดยใช้แผ่นไวนิลหรือซีดี ภายหลังมีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์เพลง จนมีคนรับทำสกอร์หลายที่

สุดท้ายคนมิกซ์เสียงทุกเส้นเสียงของทุกฝ่ายที่คัดกรองสมบูรณ์แล้วคือท่านพ่อปง แต่ยังคงต้องไปลงออปติคัลที่เมืองนอก

ซึ่งตอนนั้นแล็บในเมืองไทยก็มีแล้ว เช่น อริยะภาพแล็บ, ประวิทย์แล็บ, ประมวลแล็บ (สยามพัฒนา)

ห้องบันทึกเสียงรามอินทรา ได้รางวัลสาขาบันทึกเสียงมามากมายหลายสถาบัน



ภาพ: พูนศักดิ์ อุทัยพันธุ์ (แถวหลัง ที่สามจากซ้าย) กับทีมนักแสดงที่มาลงเสียงพากย์ที่ห้องบันทึกเสียงรามอินทรา



การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากระบบอนาล็อกสู่ดิจิทัล


น่าจะเป็นการลงทุนใหม่ครั้งใหญ่ของท่าน เมื่อภาพยนตร์เริ่มมาใช้ระบบเสียงดิจิทัลสกุลต่าง ๆ

เช่น Dolby,  DTS,  Sony ฯลฯ ซึ่งเครื่องมือยุคใหม่ทุกชิ้นราคาแพงมาก ๆ 

ท่านพยายามติดต่อจนได้เป็นตัวแทน Dolby ในไทย ในขณะที่เกิดกันตนาฟิล์มแล็บขึ้นมาอีกแล็บหนึ่ง

ท่านตัดสินใจสั่งเครื่องลงออปติกมารองรับระบบที่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ Dolby Stereo, SR, SRD, Digital 5.1, 7.1 จนปัจจุบัน Dolby Atmos

เมื่อท่านอายุมากขึ้น สุนิตย์ อัศวินิกุล ลูกชายได้เข้ามาทำหน้าที่ด้านไฟนัลมิกซ์แทนท่าน แต่ท่านจะมาช่วยในการลงเสียงฟิล์มออปติกอยู่เสมอ

แล้ววันหนึ่ง มันก็มีการจากลา. ผมมีความจำเป็นต้องออกมาจากรามอินทราหลายปีแล้ว แต่ก็คอยตามดูแลมาตลอดเวลา

เพราะได้พ่อปง พระอาจารย์ใหญ่ ให้วิชาความรู้มาทำงานเป็นอาชีพหลักทำมาหากินตลอดมา ทั้งด้านทำเสียงและตัดต่อ



“ปง อัศวินิกุล” ศิลปินแห่งชาติ

คำสอนของพ่อปงที่จดจำมาถึงทุกวันนี้..




“อัดเสียง กับ ทำเสียง มันต่างกันนะศักดิ์ 

จะอัดเสียงให้ติดทำง่าย อัดเสียงให้เสียงดังก็ง่าย..

แต่การทำเสียงให้มันใช่ มีอารมณ์ของเสียงในเหตุการณ์ ต่าง ๆ มันยากนะ

เราต้องมีจิตวิญญาณของศิลปินร่วมด้วย”

........................................................

กราบแทบเท้าพระอาจารย์พ่อ ปง อัศวินิกุล 

ด้วยความเคารพรักบูชาอย่างสูงยิ่งครับ

พูนศักดิ์ อุทัยพันธุ์

 


อ่าน: ปง อัศวินิกุล ปรมาจารย์แห่งเสียง ศิลปินแห่งชาติ และไม้ใหญ่แห่งวงการภาพยนตร์ไทย


หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด