อองรี ลองลัวส์ จากคนบ้าหนังสู่ผู้พิทักษ์ฟิล์มภาพยนตร์

“เรื่องราวของชายผู้มีจุดเริ่มต้นจากการเป็นคนบ้าหนัง สู่ผู้บุกเบิกงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ 

ที่ทรงอิทธิพลต่อกระบวนการคิดของคนทำหนังคลื่นลูกใหม่ฝรั่งเศส 

และผู้รักษาประวัติศาสตร์เพื่ออนาคต”


โดย อธิพันธ์ สิมมาคำ

ที่มาภาพปก: https://www.cinematheque.fr


เมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐบาลฝรั่งเศสประกาศผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ ระยะที่ 2 ของสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้กิจการและสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ในประเทศ สามารถเปิดให้บริการตามปรกติ รวมถึงภาพยนตร์สถานฝรั่งเศส (La Cinémathèque française) ที่ปิดตัวชั่วคราวไปหลายเดือน ได้กลับมาเปิดให้เข้าชมในส่วนของการจัดแสดงนิทรรศการและโรงภาพยนตร์แก่นักท่องเที่ยวและผู้ที่รักภาพยนตร์อีกครั้ง 


ในช่วงปิดให้บริการชั่วคราว ภาพยนตร์สถานฝรั่งเศสมีช่องทางใหม่สำหรับการรับชมผลงานที่อยู่ในคลังอนุรักษ์ ซึ่งได้รับการบูรณะภาพและเสียงขึ้นมาใหม่ พร้อมทั้งคัดสรรโปรแกรมที่น่าสนใจจากความร่วมมือกับหอภาพยนตร์ต่าง ๆ จากทั่วโลก ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ชื่อ “HENRI” ซึ่งตั้งชื่อขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ อองรี ลองลัวส์ (Henri Langlois) ผู้บุกเบิกงานอนุรักษ์ภาพยนตร์คนสำคัญของโลก ซึ่งมีคุณูปการทั้งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งภาพยนตร์สถานฝรั่งเศสและสมาพันธ์หอภาพยนตร์ระหว่างชาติ (FIAF) รวมทั้งเป็นผู้มีอิทธิพลต่อคนทำหนังที่สำคัญของฝรั่งเศสจำนวนมาก


ก่อนที่จะได้รับการเชิดชูให้เป็นหนึ่งในบุคคลที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ อองรี ลองลัวส์ เติบโตมาจากเป็นนักดูและนักสะสมภาพยนตร์ตัวยง เขาเริ่มต้นสะสมฟิล์มภาพยนตร์ตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 1930 ด้วยความหลงใหลภาพยนตร์เงียบในยุคนั้น ต่อมาเมื่อโลกภาพยนตร์เข้าสู่ช่วงการเปลี่ยนผ่านจากยุคของหนังเงียบไปสู่หนังเสียง บริษัทผู้สร้างและโรงภาพยนตร์หลาย ๆ แห่ง จึงได้ทำลายฟิล์มภาพยนตร์เงียบของตน แต่ลองลัวส์กลับมีความคิดที่จะจัดเก็บภาพยนตร์เหล่านั้นไว้ โดยใช้พื้นที่ในห้องน้ำแฟลตพ่อแม่ของเขาเป็นคลังสะสมส่วนตัว กระทั่งผ่านไปหลายปี ม้วนฟิล์มเริ่มสั่งสมเพิ่มพูนขึ้น จนมีจำนวนรวมกันกว่า 60,000 เรื่อง เขาจึงเริ่มคิดหาหนทางจัดการภาพเคลื่อนไหวทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ ให้มีชีวิตยืนยาวในอนาคตต่อไป


 

ที่มา: https://www.cinematheque.fr


ในปี ค.ศ. 1936 อองรี ลองลัวส์ ร่วมกับเพื่อนสนิทอีก 2 คน คือ จอร์จส์ ฟรองจู (George Franju) และ ฌอง มิทรี (Jean Mitry) ก่อตั้งภาพยนตร์สถานฝรั่งเศสขึ้น ณ กรุงปารีส ด้วยทุนส่วนตัว เขานำฟิล์มของตนเองและ ลอตเต ไอส์เนอร์ (Lotte Eisner) หนึ่งในบุคคลสำคัญยุคแรกเริ่มของที่นี่ มาอนุรักษ์ในรูปแบบและวิธีการที่ถูกต้อง จนได้รับการยอมรับว่าเป็นสถานที่ที่มีคลังอนุรักษ์ภาพยนตร์ที่ใหญ่และดีที่สุดในโลกในเวลาต่อมา พร้อมกันนี้ ลองลัวส์ยังคัดสรรและจัดโปรแกรมฉายภาพยนตร์ทั่วโลกจากทุกยุค ซึ่งสร้างทั้งแรงบันดาลใจและอิทธิพลให้ผู้ชมในเวลานั้น ก่อนกลายมาเป็นผู้กำกับที่มีชื่อเสียงระดับโลก เช่น โรแบรต์ เบรสซง (Robert Bresson), เรเน เคล์มองต์ (René Clément), อองรี-จอร์จส์ คลูโซต์  (Henri-Georges Clouzot)  รวมถึงกลุ่มคนทำหนังฝรั่งเศสคลื่นลูกใหม่ (French New Wave) อย่าง ฌอง-ลุค โกดาร์ (Jean Luc-Godard), ฟรองซัวส์ ทรุฟโฟต์ (François Truffaut) และอแลง เรส์เนส์ (Alain Resnais) ซึ่งเติบโตมากับการดูหนัง ณ สถานที่แห่งนี้อีกด้วย


 

ที่มา: https://www.cinematheque.fr


ช่วงที่ภาพยนตร์สถานฝรั่งเศสกำเนิดขึ้น คาบเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของมหาวิบัติในสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพทหารนาซีของเยอรมนีเข้ารุกรานและยึดครองประเทศฝรั่งเศสสำเร็จ พร้อมกับได้รับคำสั่งให้ทำลายฟิล์มภาพยนตร์อเมริกันและ German Expressionist ทุกเรื่อง ลองลัวส์และทีมงานจึงแอบสลับฉลากชื่อที่ติดบนกระป๋องเก็บฟิล์ม เพื่ออำพรางทหารกลุ่มนี้ รวมทั้งลักลอบขนย้ายฟิล์มออกนอกกรุงปารีสไปไว้ที่เมืองอื่น เพื่อปกป้องฟิล์มและเอกสารสิ่งเกี่ยวเนื่องด้านภาพยนตร์จำนวนมหาศาลให้รอดพ้นภยันตราย เหตุการณ์ในครั้งนี้นับเป็นเหตุการณ์สำคัญที่สั่นสะเทือนต่อการทำงานของภาพยนตร์สถานฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก กระทั่งการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ภาพยนตร์สถานฝรั่งเศสจึงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างเต็มตัว


อีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นกับภาพยนตร์สถานฝรั่งเศส คือการประท้วงครั้งใหญ่ในเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. 1968 (Mai 68) เมื่ออองรี ลองลัวส์ ถูกอังเดร์ มัลโรซ์ (Andre Malreux) รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมขณะนั้น ขับไล่พ้นจากตำแหน่งคณะกรรมการ และปฏิเสธให้การสนับสนุนภาพยนตร์สถานฝรั่งเศสอีกต่อไป เนื่องจากลองลัวส์บอกปัดที่จะทำตามคำขอของมัลโรซ์ในการจัดฉายภาพยนตร์เป็นรอบพิเศษแก่รัฐมนตรีโซเวียต แขกเชิญของมัลโรซ์ โดยให้เหตุผลว่า เขาวางโปรแกรมการจัดฉายไว้ตลอดทั้งสัปดาห์แล้ว จึงไม่สามารถตอบสนองความต้องการของรัฐมนตรีโซเวียตได้ และภาพยนตร์สถานฝรั่งเศสไม่ได้เป็นตัวแทนของรัฐบาล   


 

ที่มา: http://www.kitchensisters.org/present/archivefever

การขับไล่ลองลัวส์ในครั้งนี้นำมาซึ่งเหตุการณ์ปฏิวัติทางอุดมคติของฝรั่งเศสครั้งสำคัญและรุนแรงที่สุดในศตวรรษที่ 20 โดยเริ่มต้นจากการลุกฮือของนักเรียนและนักศึกษาในปารีสเพื่อต่อต้านสังคมจารีตฝรั่งเศส เชื่อมโยงไปสู่การปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งขบถต่อการสืบทอดอำนาจนานนับสิบปีของรัฐบาลชุดนั้น กระทั่งสถานการณ์การเมืองที่ทวีความร้อนระอุได้ลุกลามไปสู่การจัดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ครั้งที่ 21 เมื่อกลุ่มผู้กำกับหัวก้าวหน้า นำโดยฌอง-ลุค โกดาร์ และ ฟรองซัวส์ ทรุฟโฟต์ ประกาศลุกขึ้นยึดห้องฉายภาพยนตร์ พร้อมเรียกร้องให้คณะกรรมการเทศกาลยุติการจัดงานโดยทันที เพื่อแสดงจิตสำนึกทางสังคม ต่อเหตุการณ์ต่อสู้ของนักศึกษาและประชาชนที่ดำเนินอยู่ภายนอก 


เหตุการณ์ครั้งนี้ ยังคงได้รับการพูดถึงในฐานะประวัติศาสตร์ของวงการภาพยนตร์ฝรั่งเศส ซึ่งได้รับการบอกเล่าผ่านภาพยนตร์ร่วมสมัยหลายเรื่อง อาทิ The Dreamers (2003) และ Something in the Air (2012) นับเป็นความภาคภูมิใจของคนทำหนังจำนวนไม่น้อย ในฐานะของต้นกล้าอุดมคติที่ผลิดอกออกผล จากการหว่านเมล็ดพันธุ์ทางความคิดโดย อองรี ลองลัวส์


 

ภาพ: The Dreamers (2003)

ที่มา: http://movie-tourist.blogspot.com/2014/04/the-dreamers-2003.html


แม้ว่าอองรี ลองลัวส์ จะไม่ได้มีผลงานด้านการแสดงหรือกำกับภาพยนตร์แม้แต่เรื่องเดียว แต่เขาได้รับการยกย่องและเชิดชูเทียบเท่ากับทีมงานและผู้อยู่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ โดยในปี ค.ศ. 1974 เขาได้รับรางวัลเกียรติยศจากเวทีออสการ์ ในฐานะของ “ผู้ที่อุทิศชีวิตและอุดมการณ์ให้กับศิลปะภาพยนตร์ ซึ่งมีส่วนร่วมและศรัทธาอย่างหนักแน่นที่จะรักษาประวัติศาสตร์เพื่ออนาคต” สิ่งนี้นับเป็นการแสดงเห็นให้ถึงชัยชนะและคุณูปการที่ยิ่งใหญ่ของงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ ซึ่งเป็นหน้าที่และบทบาทสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของศิลปะแขนงที่เจ็ดนี้  


 

ที่มา: https://www.atlasobscura.com/articles/henri-langlois-cinematheque-francaise

……………………………………………………..


 

ที่มา: https://www.cinematheque.fr/henri


หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) และภาพยนตร์สถานฝรั่งเศส ร่วมมือกันจัดโครงการ “Thai-French Carte Blanche Cinema Exchange” โครงการแลกเปลี่ยนภาพยนตร์คลาสสิกผ่านช่องทางออนไลน์ของสองประเทศ เพื่อเสริมสร้างความรู้ ขยายโลกทัศน์ และส่งเสริมงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ โดยแต่ละเรื่องจะมีบทความประกอบเป็นภาษาฝรั่งเศส เพื่ออธิบายบริบทและประวัติศาสตร์ของหนังที่เขียนโดยทั้งผู้เชี่ยวชาญจากหอภาพยนตร์และโดยนักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ของฝรั่งเศส


ในช่องทางการรับชมภาพยนตร์ออนไลน์ของภาพยนตร์สถานฝรั่งเศส “HENRI” หอภาพยนตร์คัดสรรโปรแกรมโดยเลือกภาพยนตร์ไทยทั้งหมด 4 เรื่อง ประกอบด้วย


1. สันติ-วีณา (2497) 

ชมภาพยนตร์ที่: https://www.cinematheque.fr/henri/film/148319-santi-vina-thavi-na-bangchang-1954

(รับชมได้ถึงวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2564)


2. พรายตะเคียน (2483)

ชมภาพยนตร์ที่: https://www.cinematheque.fr/henri/film/148527-prai-takian-anonyme-1940

(รับชมได้ถึงวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2564)


3. กะเทยเป็นเหตุ (2497)

ชมภาพยนตร์ที่: https://www.cinematheque.fr/henri/film/148528-it-s-all-because-of-a-katoey-anonyme-1954

(รับชมได้ถึงวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2564)


4. สวรรค์มืด (2501)

ชมภาพยนตร์ที่: https://www.cinematheque.fr/henri/film/148529-dark-heaven-rattana-pestonji-1958

(รับชมได้ถึงวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2564)

……………………………………………………..

ส่วนผู้ชมชาวไทย สามารถรับชมภาพยนตร์ฝรั่งเศสคลาสสิก 4 เรื่อง ได้ที่ https://fapot.or.th/main/news/688

และรับชมภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ ในโปรแกรมออนไลน์ของภาพยนตร์สถานฝรั่งเศสได้ที่ https://www.cinematheque.fr/henri

……………………………………………………..

ข้อมูลประกอบการเขียน

- http://www.kitchensisters.org/keepers/archive-fever

- https://www.hoodedutilitarian.com/2010/07/history-for-the-future-henri-langlois-cinematheque-francaise

- https://www.washingtontimes.com/news/2004/feb/11/20040211-093546-4381r

- https://www.atlasobscura.com/articles/henri-langlois-cinematheque-francaise



หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด