ซีรีส์หนังข่าว: แนะนำหนังข่าวและภาพรวมคอลเลกชัน หนังข่าว หอภาพยนตร์

ในการอยู่ร่วมกันของสังคมมนุษย์จำเป็นต้องพึ่งพาการสื่อสาร ทั้งต่อบุคคลและต่อชุมชน เรื่องราวและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถูกส่งต่อถึงกันด้วยวิธีการต่าง ๆ วิวัฒน์พัฒนาด้วยเทคโนโลยี ในยุคโบราณ การสื่อสารที่เป็นทางการคือ ผู้ปกครองต้องการแจ้งข่าวให้คนในกำกับหรือลูกบ้านทราบ จะใช้วิธีส่งคนไปตีกลองป่าวร้องหรือป่าวประกาศ บางทีก็มีใบบอกให้อ่าน หรือนำใบบอกหลาย ๆ ใบที่เขียนด้วยหมึกบนแผ่นหนังไปติดหรือตอกตะปูตามต้นไม้ ตามกำแพง หรือมีเสาปัก (มีผู้สันนิษฐานว่าเป็นที่มาของคำว่า post ที่มักปรากฏในชื่อหนังสือพิมพ์ ด้วยนัยของการแสดงข่าวสารและข้อมูลสำหรับสาธารณะ) และเมื่อ โยฮันเนส กูเตนเบิร์ก สร้างแท่นพิมพ์ที่สามารถพิมพ์ชุดตัวอักษรลงบนกระดาษได้จำนวนมากและรวดเร็วกว่าการเขียนสำเร็จในช่วงราว ค.ศ. 1439 ก็ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในโลกตะวันตก ต้นทุนผลิตสิ่งพิมพ์ลดลงมาก หนังสือกลายเป็นสินค้าที่คนทั่วไปสามารถหาซื้อได้ ข่าวสารความรู้จึงถูกแพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็ว เอกสารข่าวเผยแพร่ในเมือง โดยเฉพาะเมืองใหญ่ที่เคยผลิตด้วยลายมือก็เปลี่ยนแปลงมาใช้การพิมพ์ทดแทน AVVISI เอกสารแจ้งข่าวสารแผ่นเดียวในเวนิส อิตาลี กลางศตวรรษที่ 16 เริ่มเปลี่ยนจากการเขียนเป็นการพิมพ์ และแพร่กระจายสู่เมืองอื่น ๆ เอกสารนี้ออกตามกำหนดการรายสัปดาห์ กล่าวกันว่าเป็นต้นกำเนิดของหนังสือพิมพ์ที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน เมื่อโลกเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เริ่มต้นจากทางยุโรป หนังสือพิมพ์ได้กลายเป็นกระบอกเสียงและแจ้งข่าวสารสู่ผู้คน หนังสือพิมพ์กลายเป็นสถาบัน มีสถานะเป็นฐานันดรที่ 4 กลางศตวรรษที่ 19 เกิดการคิดค้นการถ่ายรูป ปฏิวัติวิธีการในการสื่อสารด้วยภาพจากการวาดรูป รูปถ่ายกลายเป็นส่วนประกอบสำคัญหนึ่งของหนังสือพิมพ์ และจากรูปถ่ายภาพนิ่งก็กลายเป็นรูปถ่ายภาพเคลื่อนไหวได้คือภาพยนตร์ ก่อนจบศตวรรษที่ 19


แม้ภาพยนตร์ไม่อาจเข้าไปอยู่ในหนังสือพิมพ์ได้ แต่ได้เกิดโรงหนังขึ้นทั่วโลก และหนังได้พัฒนาจากถ่ายอะไรก็ได้ให้เห็นการเคลื่อนไหวกระดุกกระดิกได้ กลายเป็นสื่อภาษาใหม่ของมนุษย์ เช่นเดียวกับภาษาพูด ภาษาเขียน ผู้คนใช้การพูดเขียนเพื่อบันทึก เพื่อรายงานบอกกล่าว เพื่อสร้างสรรค์เรื่องราว ผ่านการแต่งเป็นนิยาย แต่งบทกวี ภาพยนตร์เองก็กลายเป็นหนังจัดฉาก เล่าเรื่องอย่างละคร อย่างนิยาย ส่วนหนังถ่ายจากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น กลายเป็นหนังข่าว เป็นหนังสารคดี โรงหนังก็กลายเป็นสถาบัน เป็นสื่อสารมวลชน เป็นฐานันดรที่ 4 อีกอย่างหนึ่งแข่งกับหนังสือพิมพ์ ก่อนที่จะเกิดวิทยุและเกิดโทรทัศน์ขึ้นมารับช่วงและทดแทน จนมาถึงยุคสมัยของสื่อสังคมโซเชียลผ่านเครือข่ายไร้สายในปัจจุบัน 


วันที่ 28 ธันวาคม ค.ศ. 1895 ประดิษฐกรรมซีเนมาโตกราฟ ซึ่งเป็นทั้งเครื่องถ่ายและฉายภาพยนตร์ของ ออกุสต์และหลุยส์ ลูมิแอร์ สองพี่น้องชาวฝรั่งเศสจากเมืองลียง ถูกนำมาฉายภาพยนตร์ขึ้นจอสู่สายตาสาธารณชนในกรุงปารีส แสงแรกแห่งการกำเนิดภาพยนตร์อย่างเป็นทางการเริ่มต้นในค่ำคืนนั้น ความสำเร็จของซีเนมาโตกราฟทำให้สามารถกล่าวได้ว่า ลูมิแอร์เป็นนักประดิษฐ์ภาพยนตร์คนสุดท้าย และนักสร้างภาพยนตร์คนแรก ไม่มีอะไรมาขวางกั้นความก้าวหน้าของภาพยนตร์อีกต่อไป ช่างถ่ายภาพยนตร์ของบริษัทลูมิแอร์เดินทางไปทั่วโลก ถ่ายบันทึกภาพเหตุการณ์ทั่วโลกและจัดฉาย ผู้คนนิยมชมชอบในภาพยนตร์ พวกเขาได้เห็นเหตุการณ์และผู้คนในประเทศอื่น ๆ และขบขันกับมุกตลกที่นักสร้างภาพยนตร์สรรค์สร้าง โลกถูกเชื่อมเข้าหากันด้วยภาพยนตร์ แต่ในเวลานั้นไม่ได้มีการแบ่งแยกภาพยนตร์ออกเป็นประเภทต่าง ๆ ลูมิแอร์สร้างทั้งภาพยนตร์ที่ถ่ายบันทึกภาพจริงและจัดฉากเซ็ตถ่ายขึ้นมา และผู้ชมก็รับชมภาพยนตร์เหล่านั้นผสมผเสกันไป จนกระทั่งต่อมาภาพยนตร์ที่สร้างเริ่มมีความยาวมากขึ้นจึงเริ่มจัดสรรเวลาการจัดฉายในแต่ละโปรแกรม


หลัง ค.ศ. 1897 บริษัทภาพยนตร์ฝรั่งเศส Gaumont และ Pathé ได้สร้างภาพยนตร์เข้าฉายในโรงภาพยนตร์อย่างต่อเนื่อง โดยลักษณะการจัดฉายนั้นจะมีภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ฉายประกอบโปรแกรมด้วย จนเมื่อ ค.ศ.1908 Pathé ได้เริ่มจัดทำภาพยนตร์ชุด newsreel โดยใช้ชื่อว่า Pathé-Journal ส่วน Gaumont ก็ได้จัดทำภาพยนตร์ชุด newsreel ชื่อ Gaumont-Actualités ขึ้นเช่นกัน ความสำเร็จของภาพยนตร์ newsreel นั้นทำให้ใน ค.ศ. 1909 Pathé ได้ก่อตั้ง Pathé Gazette ในฝรั่งเศส, Pathé News ค.ศ. 1910 ในสหรัฐอเมริกา และ British Pathé ใน ค.ศ. 1911 เพื่อผลิตภาพยนตร์ประเภทข่าวหรือสารคดีเป็นการเฉพาะ ในเมืองใหญ่บางเมืองจะมีโรงภาพยนตร์เฉพาะที่ฉายภาพยนตร์ข่าวเป็นหลัก โดยอาจมีการ์ตูน หนังสั้น หรือสารคดีการเดินทาง ประกอบการฉายบ้าง เช่น โรงภาพยนตร์ข่าวแห่งแรกของอังกฤษคือ Daily Bioscope ในลอนดอน ซึ่งเริ่มกิจการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1909


ช่วงเวลาระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1914-1918) ประเทศมหาอำนาจใช้โอกาสนี้ส่งสารในลักษณะพร็อพพาแกนดาไปสู่ผู้ชม โดยพยายามผสมผสานเนื้อหาของข่าวไปกับการโฆษณาชวนเชื่อ งานหนังข่าวที่ปรากฏในไทยก็มีลักษณะนี้เช่นกัน เช่น หนังของสำนักข่าวสารอเมริกัน หรือ ยูซิส (USIS) ซึ่งจัดตั้งแผนกภาพยนตร์เพื่อผลิตภาพยนตร์ข่าวสาร สารคดี และโฆษณาชวนเชื่อ ให้คนไทยนิยมอเมริกันและต่อต้านคอมมิวนิสต์ในช่วงเวลาของสงครามเย็น


เมื่อ BBC ออกอากาศในวงกว้างอย่างเป็นทางการ ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1936 ได้ออกอากาศรายการข่าว British Movietone และ Gaumont British เป็นเวลาหลายปี ก่อนจะผลิตรายการข่าวเป็นของตนเองภายใต้ชื่อ Television Newsreel ตั้งแต่ ค.ศ. 1948 โดยมีความยาวราว 15 นาที ประกอบด้วยหลายช่วงรายการ และระยะเวลายาวกว่า newsreel ที่ฉายในโรงภาพยนตร์เล็กน้อย 


อย่างไรก็ตาม Television Newsreel ถูกมองว่า ไม่ใช่รายการข่าวที่แท้จริง เนื่องจากไม่ทันต่อสถานการณ์จากกระบวนการผลิตที่ใช้เวลา และมีลักษณะมุ่งหมายความบันเทิง ข่าวที่จริงจังและทันต่อสถานการณ์มากกว่า จะถูกนำเสนอผ่านวิทยุ BBC มีบางครั้งเท่านั้นที่ข่าวจริงจังถูกนำเสนอผ่านการออกอากาศโทรทัศน์ แต่มีเพียงแต่เสียงเท่านั้น จนวันที่ 5 กรกฎาคม ค.ศ. 1954 รายการใหม่ BBC News ก็ได้เริ่มออกอากาศเป็นครั้งแรก รายงานข่าวเหตุการณ์ปัจจุบันโดยผู้ประกาศที่ไม่เปิดเผยใบหน้าและชื่อ เนื่องจากไม่ต้องการให้บุคลิกภาพของผู้ประกาศรบกวนความสนใจในเนื้อหา ในช่วงแรกรายการใหม่นี้ยังออกอากาศภายใต้ชื่อ News and Newsreel แต่ต่อมาไม่นานได้ตัดคำว่า Newsreel ออก เหลือเพียง News เท่านั้น


ในส่วนของประเทศไทยเอง ช่วงเวลาเริ่มต้นของการชมภาพยนตร์ข่าวก็ไม่แตกต่างจากในต่างประเทศ คือภาพยนตร์ข่าวจะประกอบอยู่กับโปรแกรมการจัดฉายภาพยนตร์ โดยเกือบทั้งหมดเป็นภาพยนตร์ข่าวจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม เมื่อคนไทยเริ่มต้นผลิตภาพยนตร์ด้วยตนเองก็เกิดความพยายามในการผลิตภาพยนตร์ข่าวเองเพื่อจัดฉาย เช่น ภาพยนตร์โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ ราวปี พ.ศ. 2443 ภาพยนตร์ที่ช่างถ่ายหนังของโรงหนังญี่ปุ่นถ่าย และภาพยนตร์ที่จัดทำโดย กองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง ตั้งแต่ราวปี 2465 จนหมดบทบาทราวปี 2475 ซึ่งผลิตทั้งภาพยนตร์ข่าว สารคดีเผยแพร่กิจการของหน่วยงานราชการ พระราชกรณียกิจและพระราชพิธีต่าง ๆ รวมถึงภาพยนตร์ส่งเสริมการท่องเที่ยว



ภาพ โฆษณาการฉายของโรงหนังบางลำภู โดย สยามภาพยนตร์บริษัท ในกรุงเทพฯ เดลิเมล์ 30 พฤษภาคม 2468


ในช่วงเวลานี้ บริษัทสยามนิรามัย ที่มีผู้จัดการเป็นพี่น้องวสุวัต เพิ่งเริ่มกิจการโรงฉายภาพยนตร์ได้ไม่นาน พวกเขาได้รับพระราชทานภาพนิ่งสถานการณ์ด่วน เหตุการณ์น้ำท่วมเมืองซัวเถา ประเทศจีน จากเหตุพายุไต้ฝุ่น เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2465 จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เป็นภาพถ่ายราว 10 ภาพสำหรับตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ แต่กลับเกิดความคิดที่จะนำภาพนิ่งเหล่านี้มาถ่ายทำเป็นภาพยนตร์เพื่อออกฉายในโรงของบริษัท ด้วยเห็นว่าคนจีนในพระนครกำลังสนใจเรื่องเหตุการณ์น้ำท่วมเมืองซัวเถา และยังไม่มีหนังข่าวจากต่างประเทศเข้ามา หลวงกลการเจนจิต (เภา วสุวัต) จึงถ่ายทำขึ้นโดยจัดฉากหลอกให้เหมือนถ่ายทำจากสถานที่จริง เช่น เอากิ่งไม้มาวางไว้ด้านหน้าของรูป ใช้พัดลมเป่าให้กิ่งไม้ไหว และเปลี่ยนฉากไปทุกรูป เสร็จแล้วนำออกฉายในอัตราพิเศษ แต่ก็ยังได้รับผลสำเร็จอย่างมาก ก่อนหน้าที่หนังข่าวน้ำท่วมเมืองซัวเถาจากต่างประเทศจะถูกนำเข้ามาฉายเสียอีก นับเป็นภาพยนตร์ข่าวปลอมเรื่องหนึ่งที่มีที่มาอันน่าเหลือเชื่อ


ภาพ: ไตเติลของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง 4

สำหรับภาพยนตร์ข่าวที่ถูกนำเสนอสู่สายตาผู้ชมทางหน้าจอโทรทัศน์ของไทยนั้น เริ่มต้นขึ้นในช่วงเวลาที่ จอมพล แปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยได้มีความพยายามจัดตั้งบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด ขึ้นในปี 2495 และทดลองออกอากาศภาพยนตร์บันทึกกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดทำโดยกรมประชาสัมพันธ์ ในปี 2496 เช่น การแข่งขันมวยสากล งานวชิราวุธานุสรณ์ งานฉลองรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งวันที่ 24 มิถุนายน 2498 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดสถานีโทรทัศน์ไทยทีวี (คนนิยมเรียก ช่อง 4 บางขุนพรหม) 


ภาพ: จำนง รังสิกุล รองผู้อำนวยการทั่วไป สถานีโทรทัศน์ไทยทีวี หัวหน้าฝ่ายจัดรายการ

ที่มา: หนังสือสมุดภาพเจ้าหน้าที่ของบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด


ในวันเริ่มแรกการออกอากาศของโทรทัศน์ไทยทีวีนั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม กดปุ่มไฟฟ้าเปิดป้ายนาม สถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ในช่วงเช้า ส่วนการแพร่ภาพออกอากาศสู่เครื่องรับประมาณ 1,000 เครื่องก็ได้เริ่มขึ้นในช่วงหัวค่ำ โดยมี จำนง รังสิกุล หัวหน้าฝ่ายจัดรายการ และหัวหน้าทีมดูงานโทรทัศน์สหรัฐอเมริกา ที่ศึกษาด้านการบริหารสถานีโทรทัศน์โดยตรง เป็นผู้วางผัง ดังนี้


19.00 น. เปิดสถานี รำเพลงต้นบรเทศ โดย อารีย์ นักดนตรี

19.04 น. ในห้องส่ง เย็นจิตต์ สัมมาพันธ์ ผู้ประกาศ กล่าวอารัมภบท และแจ้งรายการ

19.10 น. ฉายภาพยนตร์ข่าวพิธีเปิดสถานีโทรทัศน์ไทยทีวี และเรื่องอื่น ๆ

19.30 น. อาคม มกรานนท์ ออกมากล่าวเริ่มรายการ RCA Hit Parade โดยวงดนตรีคณะสุนทราภรณ์ และ เย็นจิตต์ สัมมาพันธ์ทำหน้าที่ดำเนินรายการ

20.30 น. รายการ ภาพปริศนา ดำเนินรายการโดย อาคม มกรานนท์

20.40 น. ภาพยนตร์ชุด TV Concert Hall จากสหรัฐอเมริกา

21.10 น. รายการ ราตรีในเวนิส โดยวงดนตรีคณะประสานมิตร

22.00 น. โฆษณาสินค้า และภาพยนตร์เรื่องยาว “จอมโจรดิลลิงเจอร์”

23.30 น. ปิดสถานี



ภาพ: อารีย์ นักดนตรี ผู้รำประกอบเพลงต้นบรเทศ วันแรกออกอากาศของไทยทีวี
ที่มา: หนังสือ 60 ปี ไทยโทรทัศน์ 35 ปี อสมท.


ในวันออกอากาศแรกนี้มีเกร็ดน่าสนใจบันทึกไว้โดย สรรพสิริ วิรยศิริ ซึ่งรับหน้าที่ทั้งหัวหน้าฝ่ายข่าวและการประกาศ และหัวหน้าฝ่ายช่างภาพและแสง ว่าเดิมทีข่าววันแรกที่จะออกอากาศนั้น นอกจากข่าวพิธีเปิดอาคารสถานีโดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม แล้วก็ยังไม่มีข่าวอื่นที่น่าสนใจและสดใหม่มากนัก บังเอิญว่าขณะตระเตรียมการออกอากาศกันในห้องส่งก็ได้ยินเสียงรถดับเพลิงเปิดหวอวิ่งผ่านสถานีไปทางบางซ่อน สรรพสิริจึงคว้ากล้องถ่ายหนังออกไปทันทีพร้อมกับคนขับรถของสถานี และรีบกลับมาให้เจ้าหน้าที่ล้างฟิล์มออกอากาศภายในเวลาไม่ถึงสองชั่วโมง โดยมุ่งหวังให้คนไทยได้รับชมเหตุการณ์สดใหม่ ดังนั้น ภาพยนตร์ข่าวแรกที่ออกอากาศทางโทรทัศน์ของไทยจึงเป็นข่าวการเปิดอาคารสถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ส่วนข่าวด่วนแรกที่สร้างการรับรู้แก่ผู้ชมว่า โทรทัศน์คือสื่อที่เผยแพร่ข่าวสารภาพเคลื่อนไหวได้ทันสถานการณ์ถึงเครื่องรับตามบ้านคือข่าวไฟไหม้โรงนุ่น ละแวกบางซ่อน นนทบุรี ที่ออกอากาศต่อเนื่องกันนั้นเอง



ภาพ: เย็นจิตต์ สัมมาพันธ์ ผู้ประกาศหญิงคนแรกของไทยทีวี


ที่มา: หนังสือ 60 ปี ไทยโทรทัศน์ 35 ปี อสมท.


ต่อมาในปี 2500 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ได้ลงนามตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดทำโครงการจัดตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก และสามารถเริ่มการออกอากาศได้เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2501 


จากบทความ โทรทัศน์ไทย : จากบางขุนพรหมสู่ระบบดาวเทียม โดย ผศ.เกริกเกียรติ พันธุ์พิพัฒน์ และ อาจารย์ปนัดดา ธนสถิตย์ ได้ให้รายละเอียดภาพรวมการขยายตัวของวงการโทรทัศน์ไทยในช่วงเวลาหลังจากนั้น สรุปความได้ว่า ถึงแม้ประเทศไทยจะมีสถานีวิทยุโทรทัศน์ถึง 2 แห่งแล้ว แต่รัศมีการแพร่ภาพยังมีระยะทางจำกัด ในปี 2502 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จึงได้เสนอให้ดำเนินการจัดตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์ของกรมประชาสัมพันธ์ในส่วนภูมิภาคเป็นการด่วน ในปี 2505 เมื่อก่อตั้งแล้วเสร็จจึงออกอากาศได้จากสถานีส่งใน 3 จังหวัด คือ ลำปาง ขอนแก่น และสงขลา


ต่อมาอีก 5 ปี คณะกรรมการควบคุมวิทยุโทรทัศน์ของกองทัพบกได้อนุมัติโครงการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์สีแห่งแรกของประเทศไทย ดำเนินการโดย บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด โดยใช้ห้องส่งของสถานี ททบ. เป็นการชั่วคราว ก่อนจะย้ายไปตั้งอยู่บริเวณหลังขนส่งสายเหนือ ถนนพหลโยธินหลังเกิดช่อง 7 ได้ไม่นาน บริษัทไทยโทรทัศน์ก็ได้ให้บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด แพร่ภาพออกอากาศในนามสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 3 โดยให้เหตุผลว่าเป็นการทดลองก่อนที่ไทยทีวีจะเปลี่ยนแปลงระบบการออกอากาศโทรทัศน์สีในภายหลัง โดยได้ลงนามในสัญญากันครั้งแรกในปี 2511 และต่อสัญญาอีกในภายหลังคราวละ 10 ปี 



ภาพ: เจ้าหน้าที่อธิบายการทำงานของเครื่องส่งออกอากาศ ตุลาคม 2514



ในช่วงเวลาหลังปี 2500 เป็นต้นมาจนถึงราวปี 2520 ประเทศไทย จึงมีสถานีโทรทัศน์ทำการแพร่ภาพออกอากาศอยู่ในช่วงเวลาระหว่างนี้ทั้งหมดคือ ไทยทีวี (ช่อง 4) ที่ดำเนินการโดยบริษัท ไทยโทรทัศน์ ออกอากาศเป็นภาพขาวดำมาตั้งแต่ปี 2498 และเริ่มออกอากาศเป็นการทดลองระบบโทรทัศน์สี (ช่อง 9) ตั้งแต่ปี 2513, สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี (ช่อง 3) เริ่มออกอากาศปี 2513, สถานีโทรทัศน์ ททบ. (ช่อง 5) ที่เริ่มออกอากาศในปี 2501, สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบก (ช่อง 7) ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ เริ่มออกอากาศปี 2510 และสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยส่วนภูมิภาค ซึ่งขยายการจัดตั้งครบทุกภูมิภาคในเวลาต่อมา


ในการดำเนินการของทุกสถานีโทรทัศน์มีการจัดทำรายการข่าวบันทึกเหตุการณ์ประจำวัน โดยพัฒนาให้สามารถนำเสนอได้ทันเหตุการณ์มากขึ้นตามเทคโนโลยีการผลิตที่เติบโตอย่างรวดเร็วในกิจการโทรทัศน์ ความเปลี่ยนแปลงสำคัญในการผลิตคือ เปลี่ยนจากการนำภาพยนตร์ข่าวและบันทึกเหตุการณ์จากต่างประเทศที่เคยเผยแพร่ผ่านโรงภาพยนตร์มาออกอากาศเป็นการผลิตข่าวเองในประเทศมากขึ้น ซึ่งทำให้ผู้ชมได้ข่าวสารที่ใกล้ตัวและทันต่อสถานการณ์มากขึ้น เหตุการณ์ที่บันทึกไว้ในภาพยนตร์ข่าวของสถานีโทรทัศน์เหล่านี้จึงเป็นจดหมายเหตุภาพเคลื่อนไหวที่มีการจัดทำอย่างต่อเนื่อง และมีความสำคัญต่อการศึกษาความเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ของสังคมไทย



ภาพ: คณะนักเรียนเข้าชมกิจการของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 3 หนองแขม สิงหาคม 2515


เมื่อหอภาพยนตร์ได้รับการจัดตั้งขึ้นในชื่อ หอภาพยนตร์แห่งชาติ กรมศิลปากร เมื่อปี 2527 ได้มีวิสัยทัศน์และนโยบายว่าจะพยายามแสวงหาฟิล์มภาพยนตร์ทุกประเภท ทุกสมัย ที่คนไทยทำ เพื่อสะสมและอนุรักษ์ไว้เป็นทรัพย์สินทางปัญญาและมรดกอย่างหนึ่งของชาติ ภาพยนตร์ข่าวโทรทัศน์ก็เป็นเป้าหมายหนึ่งที่หอภาพยนตร์ต้องการแสวงหามาเก็บรักษา จึงทำโครงการติดต่อขอรับบริจาคภาพยนตร์ข่าวจากสถานีโทรทัศน์แทบทุกช่องในเวลานั้น ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้รับบริจาคจากทุกช่อง แต่เท่าที่ได้รับมาในระยะจัดตั้งหอภาพยนตร์นั้นก็นับว่ามีปริมาณมาก เป็นปึกแผ่นพอที่จะเป็นกรุหรือคอลเลกชันภาพยนตร์ข่าวโทรทัศน์สำคัญของชาติได้ ภาพยนตร์ข่าวก็เหมือนข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์รายวัน เมื่อพ้นวันไปแล้วก็ถือว่าข่าวนั้นหมดอายุขัย ขายไม่ได้แล้ว แต่วันเวลาผ่านไป หากเราเก็บรักษามันไว้ จากข่าวสดทันการณ์ มันจะกลายเป็นจดหมายเหตุ เป็นเอกสารมีค่าทางประวัติศาสตร์ ยิ่งนานไปยิ่งมีค่าจำนวนของภาพยนตร์ข่าวที่หอภาพยนตร์ได้รับมาเป็นปริมาณมากในครั้งนั้น อาจประเมินได้ว่ามีข่าวอยู่เป็นแสน ๆ ข่าว แต่ฟิล์มภาพยนตร์ข่าวที่อยู่ในการอนุรักษ์นี้ได้ชำระแล้วเสร็จไปเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น



ภาพ: พิธีรับมอบฟิล์มภาพยนตร์ข่าวจากสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 3 ในวันที่ 1 เมษายน 2529


ภาพยนตร์ข่าวที่อยู่ในกระบวนการอนุรักษ์ ส่วนที่ชำระแล้ว หอภาพยนตร์ได้ซ่อม สงวนรักษา แปลงสัญญาณ จัดทำข้อมูล และนำเข้าระบบบริการแล้ว ณ ปัจจุบัน มีภาพรวมดังต่อไปนี้


ภาพยนตร์ข่าวทั้งสิ้น 13,376 รายการ ครอบคลุมช่วงเวลาระหว่างปี 2502-2526 แบ่งเป็น 


- ภาพยนตร์ข่าวจากสถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง 4 และสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 9 และสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 9 อสมท. ระหว่างปี 2502-2526 จำนวน 7,142 รายการ

- ภาพยนตร์ข่าวจากสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 3 ระหว่างปี 2513-2523 จำนวน 3,918 รายการ

- สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 ระหว่างปี 2523-2526 จำนวน 2,316 รายการ


ภาพยนตร์ข่าวเหล่านี้ ผู้สนใจใช้งานสามารถสืบค้นและรับชมภาพยนตร์ได้ที่ห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี วันอังคาร-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.30-17.30 น. หรือสืบค้นออนไลน์ได้จาก Open Data ภาพยนตร์ ทางเว็บไซต์หอภาพยนตร์ www.fapot.or.th/main/library/view2/4 เลือก “สืบค้นภาพยนตร์”  

--------------------
โดย ธิติพงษ์ ก่อสกุล
ที่มา: จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 82 ประจำเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2567