แนะนำนิทรรศการ: เมื่อจักรวาลภาพยนตร์โคจรในแนวดิ่ง

นิทรรศการจัดวางวัตถุสิ่งเกี่ยวเนื่องด้านภาพยนตร์บนเส้นทางไต่ระดับในพื้นที่โถงทางเดินอาคาร


ช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ใครที่มีโอกาสได้แวะเวียนมาเที่ยวหอภาพยนตร์จะได้พบกับส่วนจัดแสดงโซนใหม่ที่เกิดขึ้นภายในอาคารสรรพสาตรศุภกิจ เป็นนิทรรศการแนวดิ่งที่ให้ความรู้สึกแปลกใหม่ในการชม โดยผู้ชมต้องไต่ระดับขึ้นไปตามโถงบันไดที่รายล้อมด้วยตู้จัดแสดง ซึ่งถูกออกแบบให้เชื่อมโยงกับโครงสร้างอาคารทั้งสี่ชั้น ภายในจัดวางวัตถุสิ่งเกี่ยวเนื่องด้านภาพยนตร์ ที่คัดสรรจากคลังอนุรักษ์ของหอภาพยนตร์ มาให้ผู้ชมได้เดินสำรวจศึกษาเส้นทางของภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งประดิษฐ์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ประดิษฐกรรมโบราณ อุปกรณ์การสร้างภาพยนตร์ ของประกอบฉาก ของสะสม ของที่ระลึกจากภาพยนตร์ รวมไปถึงคอลเลกชันส่วนบุคคลที่หอภาพยนตร์ได้รับมอบจากผู้กำกับคนสำคัญของไทย




ชั้นหนึ่งและชั้นสอง - ผู้ชมอาจเสมือนได้สวมแว่นตามองผ่านเลนส์ยุคดึกดำบรรพ์ไปกับสิ่งประดิษฐ์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ 


เรื่องราวของประวัติศาสตร์ก่อนกำเนิดภาพยนตร์ ได้รับการเล่าผ่านสิ่งประดิษฐ์ที่เสมือนเป็นภาพแทนของมนุษย์ถ้ำ ขณะมองภาพภายนอกลอดผ่านรูเล็ก ๆ ที่กระทบบนผนังถ้ำในความมืด จนวิวัฒนาการมาเป็นกล้องรูเข็ม (Pinhole Camera) ที่ถือเป็นสิ่งประดิษฐ์อันเป็นรากฐานของภาพยนตร์ 


กระทั่งมีสิ่งประดิษฐ์ที่พัฒนาการไปตามลำดับเวลา อาทิ โคมกายสิทธิ์ (Magic Lantern) หรือเครื่องมือที่ใช้สำหรับฉายแสงเล่นเงาบนจอด้วยกระจกที่ผ่านการเขียนรูประบายสี มหรสพเช่นนี้ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เรียกว่า “โคมเชิดหนัง” อีกจุดหนึ่งที่โดดเด่นคือ หนังสัตว์ที่ถูกตัดฉลุเป็นรูปต่าง ๆ เล่นเป็นละครเงา (Shadow Play) หรือที่เรียกกันอย่างคุ้นหูว่า หนังตะลุง ละครเงาที่คล้ายกันคือ หนังใหญ่ ที่มีตัวเชิดใหญ่กว่าหนังตะลุงเป็นมหรสพชั้นสูงที่มีมาแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ตัวเชิดหนังใหญ่ตามที่ปรากฏในตู้จัดแสดงคือเรื่องราวของพระอินทร์และช้างเอราวัณ สร้างสรรค์จากงานสืบสานหัตถศิลป์โบราณของวัดขนอน จังหวัดราชบุรี เพื่อนิทรรศการนี้โดยเฉพาะ 




ในช่วงเวลาหนึ่งผู้คนเลือกเก็บความทรงจำที่เคลื่อนไหวได้ภายในบ้านของตัวเอง


กล้องขนาดพกพา หรือเครื่องฉายขนาดเล็ก ๆ เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีคุณค่าผ่านกาลเวลา เสมือนเป็นเครื่องบันทึกความทรงจำ ที่เกิดจากการกระจายตัวของความนิยมในภาพยนตร์ไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว จึงมีการผลิตและจำหน่ายกล้องและอุปกรณ์ราคาถูกสำหรับใช้โดยทั่วไป ทั้งในระบบ 35, 16 และ 8 มม. รวมถึงภาพยนตร์ขนาด 28 มม. ด้วยเครื่องฉายของปาเต๊ะที่เรียกชื่อว่า “ปาเต๊ะกอก” (Pathé Kok) และภาพยนตร์ขนาดเล็ก 9.5 มม. ในชื่อ “ปาเต๊ะเบบี้” (Pathé-Baby) ในงานสมัครเล่นหรืองานอดิเรกส่วนตัวและครอบครัว ที่เรามักได้ยินในชื่อ “หนังบ้านและหนังสมัครเล่น” 





อุปกรณ์ประกอบฉากละลานตา คืนชีพด้วยสายตาของผู้ชมในพื้นที่ชั้นสาม


การสร้างภาพยนตร์ส่วนใหญ่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ประกอบฉากที่ช่วยสร้างบรรยากาศและส่งเสริมบทบาทของตัวละคร อุปกรณ์ประกอบฉากที่นำมาจัดแสดงไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้ ศาลเจ้า บาตรพระ อาวุธ โครงกระดูกจำลอง ตลอดจนของจิปาถะ เสมือนเป็นภาพแทนที่บอกเล่าเรื่องราวของภาพยนตร์เรื่องนั้น ๆ อย่างขนุนจำลองลูกใหญ่จากภาพยนตร์ หลวงพี่กับผีขนุน (2552) หรือเครื่องเคราที่มีเอกลักษณ์เรื่อง คู่กรรม (2556) ที่รวมเอาอัตลักษณ์ของยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยภาพแทนของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นมาให้ชมอย่างครบครัน




ตัวละครในภาพยนตร์บางเรื่องถูกหยุดเวลาไว้ในบทบาทผ่านเครื่องแต่งกาย 


เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายจากภาพยนตร์เป็นหนึ่งในสิ่งเกี่ยวเนื่องที่หอภาพยนตร์ได้อนุรักษ์ไว้ ในตู้ชั้นสามนี้ยังได้หยิบยกเครื่องแต่งกายจากภาพยนตร์หลายยุคมาจัดแสดง มีตั้งแต่ชุดมนุษย์ยุคหินจากเรื่อง ฉลุยหิน คนไข่สุดขอบโลก (2538) เครื่องแต่งกายสมัยพุทธกาลใน องคุลีมาล (2546) ฉลองพระองค์ของรัชกาลที่ 4 ในเรื่อง ทวิภพ (2547) ชุดทหารญี่ปุ่นในสงครามมหาเอเชียบูรพาจาก คู่กรรม (2556) ชุดจ๊อกกี้ขี่ม้าของนางเอกจาก น.ส.เย็นฤดี (2526) และเสื้อไหมพรมลายตารางในบทครูพี่ลิน เรื่อง ฉลาดเกมส์โกง (2560)


ในพื้นที่ชั้นเดียวกันยังได้คัดเลือกอุปกรณ์ในการสร้างภาพยนตร์ที่สำคัญคือ กล้องและเลนส์ อุปกรณ์ไฟ และอุปกรณ์บันทึกเสียง ยิ่งไปกว่านั้นยังมีอุปกรณ์ที่หาชมได้ยากอย่างกล้องและอุปกรณ์ที่ติดตั้งบนเฮลิคอปเตอร์ เพื่อช่วยในการถ่ายทำภาพมุมสูงในสมัยก่อน




สำหรับพื้นที่ชั้นสี่ต้อนรับผู้ชมด้วยการแกะรอยประดิษฐกรรมโบราณ 


มรดกสำคัญของวงการภาพยนตร์ ประกอบด้วยเครื่องจักรที่ผ่านกาลสมัยหลายสิบปี เช่น กล้องถ่ายภาพยนตร์และเครื่องฉายภาพยนตร์ 35 มม. เครื่องฉายและล้อฟิล์มขนาด 16 มม. รวมไปถึงเครื่องฉายภาพยนตร์ที่โด่งดังจากยี่ห้อปาเต๊ะ (Pathé) ของฝรั่งเศส นอกจากนี้ยังจัดแสดงเครื่องล้างและพิมพ์ฟิล์มภาพยนตร์




ไม่เพียงแต่การประจันหน้ากับวัตถุแห่งกาลเวลา แต่ยังเชื่อมโยงผู้คนด้วยวัฒนธรรมภาพยนตร์ในวิถีชีวิตสังคมโลก


นับตั้งแต่การชมภาพยนตร์ได้กลายเป็นกิจวัตรในชีวิตประจำวันของผู้คน การสะสมสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์กลายเป็นทนิยมของยุคสมัย ผู้สร้างภาพยนตร์จึงตั้งใจผลิตของที่ระลึกเพื่อแฟนหนังโดยเฉพาะ เช่น ของสะสมจากผู้กำกับ กำธร ทัพคัลไลย ที่นอกจากสร้างภาพยนตร์ยอดนิยมหลายเรื่องแล้ว เขายังผลิต “กำธรทอย” หรือของเล่นที่ระลึกสีสันสดใสที่ช่วยส่งเสริมการตลาดให้แก่หนังของเขาได้เป็นอย่างดี 


นอกจากการสะสมของที่ระลึก ในสมัยก่อนยังมีกระแสการติดตามและหลงใหลนักแสดงในภาพยนตร์จนเกิดปรากฏการณ์ “แฟน” ที่อาจทำให้ใครหลายคนคะนึงถึงการพกกระเป๋ารูปดารา หรือแม้แต่การเขียนจดหมายติดต่อกับดารา กลิ่นอายของวันวานเหล่านี้ได้ปรากฏตัวขึ้นอีกครั้งในพื้นที่ชั้นสี่




หากมองไปยังปลายทางของโถงทางเดินจะต้องสะดุดตากับคอลเลกชันส่วนบุคคล หรือสิ่งเกี่ยวเนื่องที่ได้รับมอบจากคนในวงการภาพยนตร์ ซึ่งสะท้อนถึงตัวตนและการทำงานที่ผ่านมา โอกาสนี้จึงนำมาจัดแสดงให้ได้ชื่นชมอย่างใกล้ชิดกับคอลเลกชันพิเศษของ เปี๊ยก โปสเตอร์ ที่แสดงถึงความเป็นสหวิทยาการในตัวเขา ทั้งในฐานะการเป็นนักเขียนใบปิด ผู้กำกับ ครู และนักดนตรี ผ่านสีและพู่กันที่เขาเคยใช้วาดเขียน กล้อง เลนส์กล้อง หรือโล่รางวัลแห่งความสำเร็จของผู้สร้างภาพยนตร์ เครื่องดนตรีส่วนตัวที่เป็นภาพแทนความสนใจด้านนี้และเป็นผู้กำหนดแนวเพลงในภาพยนตร์ของตน และเครื่องฉายภาพยนตร์กำกับข้อความ “โรงเรียนเพาะศิลป์” ที่เขาเคยเป็นครูวาดเขียนโดยใช้ภาพยนตร์ในการสอน สิ่งเหล่านี้ก่อร่างภาพบุคคลในนาม เปี๊ยก โปสเตอร์




ใกล้เคียงกันเป็นคอลเลกชันพิเศษของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับคุณภาพผู้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ คว้ารางวัลระดับโลกมาหลายรายการ ในตู้นี้จัดแสดงรางวัลเปี่ยมคุณค่าจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์อย่าง Jury Prize 2021 ที่คว้ามาด้วยภาพยนตร์เรื่องล่าสุด เมมโมเรีย Memoria (2565) ร่วมกับกล้องถ่ายภาพยนตร์หลายขนาดที่อภิชาติพงศ์ใช้งานและสะสมไว้ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีอุปกรณ์ประกอบฉากอย่างชุดจานบินบังคับวิทยุที่ปรากฏตัวในฉากที่ถูกแบนในภาพยนตร์เรื่อง แสงศตวรรษ (2549)


นิทรรศการแนวดิ่งไม่เพียงแต่เปิดโอกาสให้ขุดคุ้ยร่องรอยต่าง ๆ บนเส้นทางของภาพยนตร์ แต่เชื่อว่าผู้ชมจะได้รับประสบการณ์ใหม่ในหลายมุมมองของการชม ทั้งการประจันหน้ากับวัตถุ การก้มมอง การเงยขึ้นในมุมสูง หรือแม้กระทั่งการมองผ่านซอกมุมเล็ก ๆ ที่อาจไม่เคยได้สัมผัสในพื้นที่ที่ห้อมล้อมด้วยจักรวาลของภาพยนตร์


โดย ลลิตา สิงห์คำปุก

ที่มา: จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 82 ประจำเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2567