การทำจดหมายเหตุส่วนบุคคล ตอนที่ 4 การทำความสะอาด ดูแลและจัดการวัตถุประเภทสื่อโสตทัศน์

โดย กองบรรณาธิการ จดหมายข่าวหอภาพยนตร์

ที่มา: จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 70 ประจำเดือน กรกฎาคม - สิงหาคม 2565


บทความเรื่องการทำจดหมายเหตุส่วนบุคคล ตอนที่ 4 นี้ จะเป็นเรื่องการดูแลจัดการและเก็บรักษาวัตถุประเภทสื่อโสตทัศน์ โดยสื่อโสตทัศน์หรือสื่อบันทึกภาพและเสียงในที่นี้ จะหมายถึงแผ่นเสียง เทปคาสเซตต์ เทปวีดิทัศน์ หรือที่เราเรียกอย่างคุ้นเคยว่าเทปวิดีโอ แผ่นซีดี และดีวีดีก่อน ยังไม่ขอกล่าวถึงฟิล์มภาพยนตร์ ไฟล์ภาพยนตร์ หรือคลิปภาพยนตร์ ที่มีลักษณะการจัดการแตกต่างออกไป ซึ่งเราจะกล่าวต่อไปในฉบับหน้า


แผ่นเสียง  




ความเสี่ยงต่อการเสื่อมสภาพของแผ่นเสียง   

- เชื้อรา ซึ่งเกิดจากการจัดเก็บในสภาพแวดล้อมที่ร้อนและชื้น

- ฝุ่นละอองและสิ่งสกปรกต่าง ๆ ซึ่งเกิดจากการจัดเก็บไม่มิดชิดหรือการหยิบจับด้วยมือที่สกปรก

- รอยขีด แตก หรือหัก ซึ่งอาจเกิดจากการจัดเก็บไม่ถูกวิธี เช่น จัดเก็บบนชั้นวางที่แน่นจนเกินไป หรือหยิบจับโดยไม่ระมัดระวัง

- การลอก ร่อน เกิดจากการเสื่อมสภาพของวัสดุที่เคลือบแผ่นเสียง


การทำความสะอาดแผ่นเสียง

- กรณีที่แผ่นเสียงไม่สกปรกมากให้ใช้แปรงขนนุ่ม เช่น แปรงขนกระต่าย เช็ดฝุ่นโดยรอบแผ่นเสียงเป็นวงกลมตามร่องแผ่นเสียงไปในทิศทางเดียวกัน

- กรณีแผ่นเสียงมีคราบสกปรกมากควรทำความสะอาดด้วยน้ำกรอง โดยระมัดระวังไม่ให้ฉลากแผ่นเสียงโดนน้ำ จากนั้นใช้น้ำยาล้างจานผสมน้ำสะอาดฉีดพรมให้ทั่วแผ่น แล้วใช้ฟองน้ำหรือแปรงสีฟันถูไปตามร่องแผ่นเสียงในทิศทางเดียวกันให้สะอาด ล้างออกด้วยน้ำกรอง และเช็ดแผ่นเสียงให้แห้งด้วยผ้าไมโครไฟเบอร์โดยเช็ดไปในทิศทางเดียวกัน


การดูแลและเก็บรักษาแผ่นเสียง 

- เก็บแผ่นเสียงไว้ในที่มิดชิด ปราศจากฝุ่น แห้งและเย็น

- หลีกเลี่ยงการเก็บในห้องที่ถูกแสงแดด ความร้อนและความชื้นสูง หรือสถานที่ที่มีความแตกต่างของอุณหภูมิมาก

- จัดเก็บในซองสำหรับใส่แผ่นเสียงที่มีสภาพดี

- ควรจัดเก็บแผ่นเสียงในแนวตั้งโดยไม่วางแน่นจนเกินไป

- ล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบจับแผ่นเสียง และหยิบจับด้วยความระมัดระวัง

- ไม่ควรสัมผัสบริเวณร่องแผ่นเสียงโดยตรง ให้จับที่บริเวณขอบของแผ่นหรือบริเวณฉลากเท่านั้น

- หากเป็นไปได้ เมื่อทำความสะอาดและดูแลรักษาเบื้องต้นแล้ว ควรรีบนำแผ่นเสียงไปแปลงสัญญาณเป็นไฟล์ดิจิทัลก่อนที่แผ่นเสียงนั้น ๆ จะเกิดความเสียหายจนไม่สามารถใช้งานได้หรือไม่มีเครื่องเล่นแผ่นเสียงแล้ว และหลังการแปลงสัญญาณควรนำไฟล์ที่ได้จัดเก็บในรูปแบบที่ที่ต่างกันอย่างน้อย 3 ประเภท (ซึ่งเราจะกล่าวถึงการจัดเก็บไฟล์ดิจิทัลอย่างละเอียดในฉบับหน้า)


เทปคาสเซตต์และเทปวีดิทัศน์




ความเสี่ยงต่อการเสื่อมสภาพของเทปคาสเซตต์และเทปวีดิทัศน์

- เทปยับหรือฉีกขาดจากการที่เทปเข้าไปพันในเครื่องเล่น

- เทปยืดจากการเก็บในที่ที่มีอุณหภูมิสูง

- ฝุ่นละอองและคราบสกปรกต่าง ๆ เกิดจากการจัดเก็บในสถานที่ที่ไม่มิดชิด

- เทปขึ้นรา เกิดจากการจัดเก็บในสภาพแวดล้อมที่ร้อนและชื้นเกินไป

- การแตก หัก ของตลับ เกิดจากการหยิบจับที่ไม่ระมัดระวัง


การทำความสะอาดเทปคาสเซตต์และเทปวีดิทัศน์

- ใช้ผ้าแห้งเช็ดทำความสะอาดฝุ่นที่ตลับเทป

- หากกล่องที่ใส่เทปฉีกขาดควรเปลี่ยนกล่องใหม่

- คัดแยกเทปที่เสื่อมสภาพหรือมีเชื้อราออกจากเทปม้วนอื่น ๆ

- หากพบเชื้อราบนเทปเพียงเล็กน้อย ให้นำม้วนเทปไปกรอในเครื่องเล่นเทปที่ไม่ใช้แล้ว และแกะตลับเทปออก ทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ก่อนจะประกอบกลับดังเดิม 


การดูแลและเก็บรักษาเทปคาสเซตต์และเทปวีดิทัศน์ 

- กรอเทปให้สุดม้วนทุกครั้งเมื่อใช้งานเสร็จ

- เก็บเทปไว้ในกล่องที่สะอาดและอยู่ในสภาพดี

- ควรจัดเก็บเทปในแนวตั้ง

- หลีกเลี่ยงการสัมผัสเนื้อเทป หากมีความจำเป็นให้สวมถุงมือทุกครั้ง

- เก็บเทปไว้ในที่มิดชิด ปราศจากฝุ่น แห้งและเย็น

- หลีกเลี่ยงการเก็บในห้องที่ถูกแสงแดด ความร้อนและความชื้นสูง หรือสถานที่ที่มีความแตกต่างของอุณหภูมิมาก

- ระมัดระวังในการหยิบจับหรือเคลื่อนย้ายเทป

- หลีกเลี่ยงการวางเทปไว้ใกล้กับอุปกรณ์ที่มีสนามแม่เหล็ก

- นำเทปมากรอกลับไป-มา อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อบริหารเนื้อเทป

- หากเป็นไปได้ เมื่อทำความสะอาดและดูแลรักษาเบื้องต้นแล้วควรรีบนำเทปไปแปลงสัญญาณก่อนที่เทปนั้น ๆ จะเกิดความเสียหายจนไม่สามารถใช้งานได้หรือไม่มีเครื่องเล่นที่สามารถเปิดได้ และหลังการแปลงสัญญาณควรนำไฟล์ที่ได้จัดเก็บในรูปแบบที่ที่ต่างกัน อย่างน้อย 3 ประเภท


แผ่นซีดีและดีวีดี




ความเสี่ยงต่อการเสื่อมสภาพของแผ่นซีดีและดีวีดี 

- ฝุ่นละอองและสิ่งสกปรก เกิดจากการจัดเก็บที่ไม่มิดชิดหรือการหยิบจับด้วยมือที่สกปรก

- รอยขูดขีด รอยแตกหัก เกิดจากการหยิบจับโดยไม่ระมัดระวัง และการจัดวางแผ่นบนชั้นที่แน่นเกินไป

- การลอก ร่อน เกิดจากการเสื่อมสภาพของวัสดุที่เคลือบบนแผ่น


การทำความสะอาดแผ่นซีดีและดีวีดี 

- ใช้แปรงขนนุ่มและลูกยางเป่าลมทำความสะอาดฝุ่นผงที่ติดอยู่บนแผ่น

- หากพบรอยนิ้วมือบนแผ่น ให้ใช้ผ้าเช็ดแว่นตาหรือผ้าเช็ดเลนส์กล้องเช็ดไปในทิศทางเดียวกัน คือจากศูนย์กลางไปที่ขอบแผ่น หากคราบสกปรกยังออกไม่หมด ให้ใช้ผ้านุ่มชุบน้ำผสมน้ำยาล้างจานเช็ดทำความสะอาด จากนั้นล้างออกด้วยน้ำสะอาด ใช้ผ้าแห้งซับและผึ่งลมจนแห้งสนิท

- ไม่ควรใช้สารเคมีทำความสะอาดแผ่นโดยเด็ดขาด


การดูแลและเก็บรักษาแผ่นซีดีและดีวีดี

- จับที่ขอบแผ่นหรือใช้นิ้วชี้สอดรูตรงกลางแผ่น เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดรอยนิ้วมือ

- หลีกเลี่ยงการสัมผัสผิวแผ่นทั้งสองด้าน เนื่องจากจะทำให้แผ่นเป็นรอยหรือมีคราบสกปรก

- ใช้ปากกาสำหรับเขียนแผ่นโดยเฉพาะเท่านั้น เนื่องจากสารเคมีของปากกาชนิดอื่นอาจทิ้งร่องรอยที่ทำลายพื้นผิวแผ่นได้

- เก็บแผ่นใส่กล่องเสมอเมื่อไม่ได้ใช้งาน

- หลีกเลี่ยงการเก็บในห้องที่ถูกแสงแดด ความร้อนและความชื้นสูง หรือสถานที่ที่มีความแตกต่างของอุณหภูมิมาก

- ระมัดระวังในการหยิบจับหรือเคลื่อนย้ายแผ่น

- เมื่อทำความสะอาดและดูแลรักษาเบื้องต้นแล้วหากเป็นไปได้ควรรีบนำไปแปลงสัญญาณก่อนที่แผ่นซีดีหรือดีวีดีนั้น ๆ จะเกิดความเสียหายจนไม่สามารถใช้งานได้ หรือไม่มีเครื่องที่สามารถเปิดเล่นได้ และหลังการแปลงสัญญาณควรนำไฟล์ที่ได้จัดเก็บในรูปแบบที่ที่ต่างกันอย่างน้อย 3 ประเภท


-----------------

อ่านบทความคอลัมน์การทำจดหมายเหตุส่วนบุคคล