ชีวิตที่ร่วงหล่นในตลาดพรหมจารีย์

โดย ทิพย์วัลย์ ประยูรสุข 


หมายเหตุ : บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญของภาพยนตร์ 


ตลาดพรหมจารีย์ เป็นผลงานภาพยนตร์ลำดับที่ 3 ของ สักกะ จารุจินดา ผู้กำกับภาพยนตร์ที่นับว่าเป็นหน้าใหม่ในวงการภาพยนตร์ไทย ผลงานเรื่องแรกคือเรื่อง วิมานสลัม ออกฉายในปี 2514 ปัจจุบันยังไม่พบฟิล์มภาพยนตร์ แต่พอจะทราบเค้าเรื่องย่อเพราะสร้างจากนิยายชื่อเรื่องเดียวกันของ ณรงค์ จันทร์เรือง เมื่อแรกฉาย วิมานสลัม ได้รับคำวิจารณ์ในหน้าหนังสือพิมพ์ว่า “เกือบดี” และเป็นหนังที่ “ปฏิวัติเพื่อเป็นรายการเอาใจตลาดจึงออกจะเละเทะในบางตอนไปอย่างน่าเสียดาย เพราะวิมานสลัมเริ่มต้นด้วยการตีแผ่ชีวิตคนจนในสลัมได้ใกล้เคียงที่สุด” ก่อนที่ในปี 2515 สักกะได้หันไปสร้างหนังแนวชีวิตต่อสู้ ( ? ) จากบทประพันธ์ของพ.ต.ต. ประชา พูนวิวัฒน์ เรื่อง เข็ดจริงจริงให้ดิ้นตาย.. กระทั่งปี 2516 สักกะได้กลับมาทำหนังเกี่ยวกับชีวิตของคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมที่ถูกมองข้ามคือเรื่อง ตลาดพรหมจารีย์ เมื่อนำออกฉายในโรงภาพยนตร์นักวิจารณ์ได้ให้ความเห็นว่าเป็นหนังในแบบฉบับ “นีโอเรียลลิสต์ของอิตาลี ซึ่งมุ่งเสนอเรื่องราวและรูปลักษณ์ตามความเป็นจริงของชีวิต เรื่องราวของมนุษย์ เรื่องของการสะท้อน ตีแผ่ความเป็นไปของชีวิตคนเดินดิน”* เนื่องจาก ตลาดพรหมจารีย์ นำเสนอชีวิตคนเดินดินธรรมดาตามความเป็นจริงไม่ใช่แบบสมมุติเหมือนหนังไทยเรื่องอื่น ๆ ที่เคยมีมา และการเล่าเรื่องแบบสมจริงนี้ก็ขับเน้นความเหลื่อมล้ำใน ตลาดพรหมจารีย์ ได้อย่างทรงพลัง ถ่ายทอดรูปแบบของการกดขี่ทั้งจากโครงสร้างทางสังคม การกดขี่ทางเศรษฐกิจและการกดขี่ทางเพศ 


ตลาดพรหมจารีย์ เล่าถึงครอบครัวชาวประมงเล็ก ๆ ครอบครัวหนึ่ง ประกอบด้วย 5 ชีวิตคือ แกม เป็นสามี (ราชันย์ กาญจนมาศ) นวล เป็นภรรยา (เปียทิพย์ คุ้มวงศ์) ทั้งสองมีลูกสาวรุ่นเยาว์ด้วยกันคนหนึ่ง (ด.ญ. อ้อย วงศ์สมเพชร) ครอบครัวนี้ได้รับเลี้ยง เปีย (ดวงดาว จารุจินดา) เด็กกำพร้าพ่อแม่ตายด้วยอุบัติเหตุตั้งแต่เด็ก ๆ และสมาชิกคนสุดท้ายคือพ่อของแกมซึ่งอยู่ในวัยชรา แกมมีเรือหาปลาลำเล็กลำหนึ่งเป็นเครื่องมือทำมาหากิน เวลานี้แกมกำลังเผชิญหน้ากับมรสุมแห่งการเปลี่ยนแปลง เมื่อความต้องการในการบริโภคมากขึ้น การนำเครื่องยนต์มาใช้เป็นเครื่องทุ่นแรงเพื่อหาปลาให้ได้จำนวนมากขึ้นรองรับตลาดการบริโภคในโลกทุนนิยมและมันกำลังไล่ล่าคนตัวเล็ก ๆ อย่างแกม คนมีกำลังทรัพย์ก็เปลี่ยนไปใช้เรือกำปั่นติดเครื่องยนต์ขนาดใหญ่สามารถออกทะเลไปหาปลาในที่ปลาชุมแล้วยังใช้อวนลากกวาดปลาไปหมด แกมที่มีเพียงเรือพายลำเล็ก ๆ จึงหาปลาได้น้อยลงเอาไปขายก็ไม่ได้ราคา แกมจึงปรารถนาอยากได้เครื่องยนต์มาติดเรือกับเขาบ้าง แต่จะหาทุนมาจากไหนในเมื่อปลาก็ขายไม่ได้ กระนั้นก็ตามแกมก็ยังบากหน้าไปเลียบ ๆ เคียง ๆ ขอซื้อเครื่องยนต์เรือจากเถ้าแก่ร้านขายอะไหล่ แต่โลกนี้ก็ใจร้ายพอที่จะปฏิเสธคนไม่มีเงิน ดังนั้นเมื่อมีคนมาทาบทามขอซื้อ “พรหมจารีย์” ของเปียลูกเลี้ยงไปให้เศรษฐีแก่ ศีลธรรมของแกมจึงถูกสั่นคลอนและในที่สุดก็ยอมตกลงขายให้จนกลายเป็นโศกนาฏกรรมในท้ายเรื่อง


ในปี 2516 ที่ ตลาดพรหมจารีย์ ออกฉายนั้นอยู่ในห้วงของการเรียกร้องสิทธิแรงงานซึ่งถูกผลกระทบจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เอื้อประโยชน์คนเฉพาะกลุ่มแต่ขูดรีดภาคชนบท จึงกลายเป็นว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นตัวถ่างความเหลื่อมล้ำในสังคมออกจากกันมากขึ้น คนจนที่ไม่มีต้นทุนถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง ถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกขูดรีดความเป็นมนุษย์ราวกับเป็นเครื่องจักรกลที่รอวันเสื่อมสภาพและโละทิ้ง เมื่อไม่มีเงินก็ไม่มีอำนาจจะต่อรอง ดังปรากฏในฉากแรกที่แกมนำปลาที่จับได้ไปขายแต่ไม่มีใครอยากจะรับซื้อเพราะปลาที่แกมหามาได้นั้น ตัวก็เล็กจำนวนก็น้อย หรือในฉากที่แกมพยายามไปเจรจาขอซื้อเครื่องยนต์เรือแบบผ่อนส่งกับเถ้าแก่ร้านขายอะไหล่ โดยให้สัญญาว่าหากหาเงินมาใช้ไม่หมดภายในสามเดือนจะให้ยึดเรือ ก็ถูกเถ้าแก่เหยียดหยามว่า “เรือโกโรโกโสอย่างนั้นจะเอาไปทำอะไรได้ ข้ายังไม่จำเป็นต้องใช้ฟืนมากถึงอย่างนั้นหรอก” นี้เป็นแรงผลักให้แกมตัดสินใจกระทำบางอย่างในเวลาต่อมา


 



หากเปรียบครอบครัวในเรื่อง ตลาดพรหมจารีย์ เป็นเรือลำหนึ่ง เรือลำนี้ก็กำลังเผชิญหน้ากับมรสุมความยากจน ซึ่งแกมกำลังสวมบทบาทเป็นหัวหน้าครอบครัวรับหน้าที่ในการบังคับเรือเพื่อนำพาสมาชิกในครอบครัวไปถึงจุดหมายปลายทางข้างหน้านั้นคือชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทางออกหนึ่งเดียวที่แกมคิดได้คือการได้มาซึ่งเครื่องยนต์เรือเพื่อออกไปที่ปลาชุมไกล ๆ แต่การตัดสินใจนี้แกมได้รวบอำนาจเบ็ดเสร็จโดยไม่ไถ่ถามความเห็นจากสมาชิกครอบครัว ทว่าใครกันที่เป็นคนกำหนดความเป็นหัวหน้าครอบครัว? ทำไมแกมถึงได้อาจหาญคิดว่ามีสิทธิ์เด็ดขาดในการตัดสินชี้เป็นชี้ตายหรือมีสิทธิ์แม้กระทั่งขายพรหมจารีย์ของลูกเลี้ยงในเวลาต่อมา


บรรทัดฐานของสังคมไทยกำหนดบทบาทของเพศชายให้เป็นผู้นำมีอำนาจเหนือเพศหญิง เป็นหัวหน้าครอบครัวออกไปทำงานนอกบ้านหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว ส่วนผู้หญิงเป็นได้แค่เมียและแม่ มีหน้าที่เป็นแม่บ้านแม่เรือนตามคำพังเพย “ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง” เหล่านี้เป็นแนวคิดที่สะท้อนระบบทุนนิยมที่ให้ค่าการทำงานที่ได้ “เงิน” ในขณะที่คนทำงานบ้านงานเรือนซึ่งเป็นงานที่ไม่ได้ “เงิน” จึงเป็นได้แค่ผู้ตามเป็นช้างเท้าหลัง ไม่มีสิทธิ์มีเสียงในบ้าน เช่นในฉากที่แกมตำหนินวลว่าใช้เงินฟุ่มเฟือยเอาเงินไปซื้อรองเท้าใหม่ให้เปีย ในขณะที่แกมสามารถใช้เงินไปกับการกินเหล้าเล่นการพนันจนติดหนี้ ฉั่ง (พิภพ ภู่ภิญโญ) กลับไม่มีใครกล้าว่าอะไรไม่มีใครกล้าโต้แย้ง กระนั้นแล้วแกมก็ยังบ่นว่าตนทำงานหนักเหมือนเป็น “ขี้ข้า” อยู่คนเดียว จนพ่อของแกมตั้งคำถามว่า “ใครเป็นคนทำให้เอ็งคิดอย่างนั้น” ทั้งที่เวลาออกเรือนวลกับเปียก็ไปด้วยช่วยกันลากอวนจับปลา พ่อของแกมที่อยู่บ้านก็ช่วยสานอวน ราวกับว่าแรงงานของผู้หญิงและคนแก่ไม่มีประโยชน์ในทัศนะของแกมซึ่งเป็นตัวแทนของเพศชาย ในแง่หนึ่งแกมเป็นผู้ถูกกดขี่จากโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม แต่ขณะเดียวกันเมื่ออยู่ในบ้านแกมกลับบทบาทเป็นผู้กดขี่สมาชิกในครอบครัว


 


เหล่านี้คือภาวะความเป็นชายที่เป็นพิษที่ฝังลึกลงในความนึกคิดทำให้ผู้ชายแสดงฐานะเป็นใหญ่ รู้สึกมีอำนาจนำเพศอื่น แต่ในบางครั้งพิษสงของมันก็ย้อนทำร้ายผู้ชายเองเช่นเดียวกันดังจะเห็นได้ในภาพยนตร์ แกมหมกมุ่นกับเครื่องยนต์เรือจนถึงกับตกลงขายพรหมจารีย์ของเปีย จนในที่สุดก็ได้เงินซื้อเครื่องยนต์เรือสำเร็จ แกมสวมหมวกขับเรือพาครอบครัวล่องทะเลด้วยความภาคภูมิใจเต็มเปี่ยมราวกับประสบความสำเร็จในชีวิต แม้ความสำเร็จนั้นมาจากการทำผิดศีลธรรม มาจากการค้ามนุษย์ แกมเดิมพันชีวิตครอบครัวไว้กับเครื่องยนต์เรือวาดหวังว่ามันจะสามารถยกระดับให้พ้นความจนมีชีวิตที่ดีกว่าโดยไม่สนใจความรู้สึกของสมาชิกในครอบครัว ความดึงดันมุทะลุไม่ฟังใครของแกมนี้จะสร้างความชิบหายให้สมาชิกในครอบครัว เหมือนที่ปรากฏในภาพยนตร์ว่าต่อมาเกิดพายุ แต่แกมก็ดันทุรังจะไปถึงจุดหมายคือเกาะไผ่เพื่อพาครอบครัวไปกินข้าวโดยไม่ฟังคำทัดทานของนวลกับพ่อ จนในที่สุดเครื่องยนต์เรือก็พังกลางคันเพราะฝืนเร่งเครื่องยนต์ไปที่ไกล ๆ เป็นดังนั้นแล้วแกมก็ยังไม่ฟังคำแนะนำของพ่อที่ให้ใช้ใบเรือกลับเข้าฝั่งแทน แกมก้มหน้าก้มตาพยายามจะซ่อมเครื่องยนต์เรือให้ได้ จนในที่สุดพายุฝนก็มาอย่างที่นวลกับพ่อกังวล พายุฝนที่โหมอย่างหนักทำให้พ่อของแกมที่กำลังกางใบเรือพลัดตกลงไปในทะเล แกมถึงได้สติและช่วยกันพายเรือกลับเข้าฝั่งอย่างทุลักทุเล นี้เป็นฉากที่แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของการยึดหน้าที่เป็นผู้นำรวบอำนาจในการตัดสินใจไว้ที่คนเดียวโดยไม่ฟังเสียงผู้อื่น หากผู้นำครอบครัวฟังเสียงของสมาชิกอาจไม่เกิดเหตุร้าย หากแกมรับฟังคำเตือนของเมียกับพ่ออาจจะพายเรือกลับฝั่งทันโดยไม่ถูกพายุ อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าหากเรือลำนี้เปรียบเสมือนครอบครัวของแกม จากฉากนี้คงทายได้ไม่ยากว่าชะตากรรมของครอบครัวนี้จะพบจุดจบเช่นไร


ความเป็นหัวหน้าครอบครัวนั้นไม่ได้มีหน้าที่หาเลี้ยงครอบครัวเพียงอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงการกำหนดคุณค่าให้สมาชิกในครอบครัวด้วย และในสังคมเราคุณค่าของผู้หญิงถูกกำหนดไว้ที่ “พรหมจารีย์” ผู้หญิงดี ๆ ต้องรักนวลสงวนตัว ไม่เล่นหูเล่นตากับผู้ชาย ดังนั้นเมื่อเปียเริ่มโตเป็นสาวและมีชายหนุ่มมาติดพัน ไม่เป็นไปตามความคาดหวังของแกมจึงถูกแกมด่าซ้ำ ๆ ว่า “เหมือนพวกกะหรี่” “บ้านข้าไม่ใช่ซ่องกะหรี่” แน่นอนคำว่า “กะหรี่” ไม่เคยเป็นคำชม สำหรับแกมแล้วผู้หญิงที่ให้ท่าผู้ชายเป็น “กะหรี่” เหมือนโสเภณีที่แกมพบในฉากหนึ่งและการขายตัวเป็นเรื่องน่าอับอาย 


แต่การที่แกมด่าทอเปียเพราะต้องการให้เปียเป็นผู้หญิงดี ๆ อย่างที่คาดหวังจริงหรือ? เราอาจไม่ทราบว่าแกมคิดอย่างไรกับเปีย แต่หนังได้บอกเป็นนัยผ่านสายตาของปู่จากประโยค “รู้ไหม ทำไมเอ็งคิดอย่างนั้น เพราะเอ็งมีความคิดชั่วร้ายกับนังเปียมัน” “ไม่ต้องมองข้าหรอก ข้าเห็น ข้ารู้ดี นัยน์ตาของเอ็งมันบอก”


 


หนังทำให้เห็นชัดว่าคุณค่าของผู้หญิงอยู่ที่ “พรหมจารีย์” และในโลกทุนนิยมพรหมจารีย์นั้นมีราคาสามารถนำมาขายได้เป็นเงิน สามารถขยับฐานะความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ในเมื่อไม่วันใดวันหนึ่งเปียก็จะต้องเสียพรหมจารีย์อยู่แล้ว หากปล่อยเปียเสียความบริสุทธิ์ให้แก่ แฝง (สายัณห์ จันทรวิบูลย์) คนรักของเปียอย่างสูญเปล่า ไม่ได้เงินไม่ได้ทอง สู้นำพรหมจารีย์ไปเร่ขายให้เศรษฐีได้เงินมาซื้อเครื่องเรือยังจะดีเสียกว่า ฉากต่อรองราคาขายพรหมจารีย์ของเปียไม่ต่างอะไรกับฉากต่อรองราคาขายปลาในตอนเริ่มเรื่อง ฉั่งกดราคาเปียโดยติว่า “ผอมไปหน่อย” เหมือนกับที่พ่อค้าคนกลางติปลาของแกมว่าตัวเล็ก และเป็นอีกครั้งที่แกมไม่อยู่ในสถานะมีอำนาจต่อรองได้ถึงแม้มีสินค้าอยู่ในมือจึงถูกขูดรีดได้เงินเพียงหนึ่งหมื่นบาท โดยไม่รู้เลยว่านายหน้าอย่างฉั่งไปเรียกเงินจากแม่เล้าถึงสี่หมื่นบาท


เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ไม่เพียงแต่เศรษฐีแก่ที่ให้คุณค่ากับพรหมจารีย์ แม้แต่ชายคนรักของเปียอย่างแฝงก็ด้วย แฝงนั้นไม่รังเกียจเปียเลยที่กำพร้าทั้งที่คนอื่นพากันรังเกียจเปียที่ครอบครัวไม่สมบูรณ์ไม่มีพ่อแม่เหมือนใครเขา แต่แฝงก็รักเปียด้วยใจจริง ไม่ได้ทำให้ชีวิตเปียเป็นปมด้อยในสายตาแฝงแต่อย่างใด แต่เมื่อเปียหายตัวไปสามวัน แฝงก็เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือเพราะคิดว่าเปียไปนอนกับชายอื่นมา เท่ากับว่าคุณค่าเดียวของเปียได้หมดลงแล้ว


สังคมผูกติดความเป็นหญิงดีไว้กับพรหมจรรย์ ทำให้หญิงสาวต้องรักนวลสงวนตัวหวงแหนพรหมจารีย์อันหนึ่งอันเดียวไว้อย่างแนบแน่น เพราะหากพลาดพลั้งไปแม้สักครั้งเดียวจะถูกตราหน้าเป็นหญิงชั่วสำส่อน อย่างที่เห็นในหนังที่เพียงถูกเคลือบแคลงคุณค่าหนึ่งเดียวของผู้หญิงของเปียก็หมดลง จนไม่เป็นที่ต้องการของแฝง เมื่อหมดที่พึ่งสุดท้ายเปียก็ไม่รู้จะมีชีวิตอยู่ต่อไปทำไม


 


นอกจากนี้ภาพยนตร์ยังทำลายมายาคติที่ว่าผู้ชายปกป้องผู้หญิง เพราะเมื่อเกิดปัญหาฉั่งมาตามเอาตัวเปียที่บ้าน คนที่ลุกขึ้นต่อสู้ปกป้องครอบครัวกลับเป็นนวลที่กล้าหยิบไม้พายขึ้นมาตีไล่กวดฉั่งอย่างไม่เกรงกลัว ยิ่งในตอนท้ายเรื่องที่ฉั่งพาพวกมาทำร้ายและทำลายเครื่องยนต์เรือ แกมเอาแต่ร้องไห้ครวญครางกอดเครื่องยนต์เรือราวกับเสียสติ ที่เป็นดังนั้นเพราะอีกนัยหนึ่งเครื่องยนต์เรืออุปมาได้กับสัญลักษณ์ความเป็นชายที่สมบูรณ์แบบ มันเป็นความภาคภูมิใจเดียวที่แกมไขว่คว้ามาได้ เมื่อเครื่องยนต์เรือพังยับเยิน ความเป็นชายของแกมแหลกสลายลงไปด้วย


ในตอนจบของเรื่องเปียได้สังเวยชีวิตให้แก่ ตลาดพรหมจารีย์ นี้ไม่ได้เป็นเพียงสะท้อนให้เห็นถึงผลของการถูกกดขี่จนไร้ทางสู้ แต่ในอีกแง่หนึ่งการตายของเปียยังอาจหมายถึงการตายของคนรุ่นใหม่ที่เป็นอนาคตของชาติ ที่ต้องตายจากการตัดสินใจอันผิดพลาดของผู้ใหญ่ซึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการขับเคลื่อนสังคม


ตลาดพรหมจารีย์ ผ่านกาลเวลามาแล้ว 49 ปี แม้ฟิล์มภาพยนตร์จะเสื่อมสภาพเหลือแต่เพียงสีแดงมีรอยขูดขีด แต่ก็ยังสามารถบอกเล่าเรื่องราวของคนนอกสังคมได้เป็นอย่างดี แต่สิ่งที่น่าเศร้าคือแม้กาลเวลาจะผ่านไปนานเกือบห้าสิบแต่สังคมเรายังไม่ต่างอะไรจากในภาพยนตร์


*เรียม กระนุก. “ตลาดพรหมจารี”-การย้ำความมั่นใจในแนวทางใหม่ให้แก่หนังไทย, ประชาธิปไตย ฉ. 128 (14 ก.ค. 2516) น.17



เนื่องในวาระครบ 100 ปีชาตกาลของ สักกะ จารุจินดา หอภาพยนตร์ได้นำสำเนาฟิล์ม 16 มม. ของ “ตลาดพรหมจารีย์” อันเป็นฟิล์มฉบับเดียวที่หลงเหลืออยู่ มาสแกนภาพใหม่ พร้อมเชิญนักแสดงนำ ดวงดาว จารุจินดา และ เปียทิพย์ คุ้มวงศ์ กับ สมเดช สันติประชา ผู้ที่เคยร่วมงานเบื้องหลัง มาร่วมสนทนาถึงความสำคัญและสปิริตของผู้กำกับคนสำคัญท่านนี้ ในกิจกรรมภาพยนตร์สนทนา 100 ปี สักกะ จารุจินดา ศิลปินผู้วาดชีวิตบนแผ่นฟิล์ม วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน 2565 เริ่มกิจกรรมตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป สำรองที่นั่งได้ที่ https://fapot.or.th/main/cinema/view/1687