เมื่อ 100 ปีก่อน นวัตกรรมทางภาพยนตร์ชิ้นสำคัญที่ได้ถือกำเนิดขึ้นและมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนสังคมโลกในด้านต่าง ๆ มาตลอดศตวรรษ นั่นคือ ฟิล์มภาพยนตร์ขนาด 16 มิลลิเมตร ซึ่งผลิตโดยบริษัทอีสต์แมนโกดัก บริษัทผลิตฟิล์มและอุปกรณ์กล้องรายใหญ่ของอเมริกา ออกวางจำหน่ายครั้งแรกในปี ค.ศ. 1923 เพื่อเป็นอีกทางเลือกนอกเหนือจากฟิล์มภาพยนตร์ขนาด 35 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นขนาดฟิล์มมาตรฐานที่ใช้กันในอุตสาหกรรมภาพยนตร์มาตลอดตั้งแต่ก่อน ค.ศ. 1900 ถึงแม้จะมีผู้ผลิตฟิล์มภาพยนตร์ขนาดเล็กกว่า 35 มม. ออกมาทำตลาดอยู่แล้วก่อนหน้า เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับภาพยนตร์ที่ไม่ได้ฉายในโรง เช่น บริษัทปาเต๊ะของฝรั่งเศสที่นำเสนอฟิล์มขนาด 28 มม. ในปี ค.ศ. 1912 และขนาด 9.5 มม. ในปี ค.ศ. 1922 แต่ต่างก็ต้องพ่ายแพ้เมื่อฟิล์ม 16 มม. เปิดตัวสู่ท้องตลาด พร้อมกับเสียงตอบรับที่ดีกว่าในเวลาอันรวดเร็ว
ฟิล์ม 16 มม. ของอีสต์แมนโกดักนี้ เป็นฟิล์มรีเวอร์ซัล (ฟิล์มที่เมื่อถ่ายแล้วนำไปผ่านกระบวนการล้างเสร็จก็สามารถฉายดูได้เลย) ที่พัฒนาให้เป็นฟิล์มนิรภัย หรือ safety film กล่าวคือเป็นฟิล์มที่มีคุณสมบัติไม่ลามไฟ เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน เพราะมีเจตนาให้เป็นฟิล์มสำหรับใช้ในบ้านและกิจการสมัครเล่น ต่างจากฟิล์มภาพยนตร์อื่นในยุคนั้นที่เป็นฟิล์มไนเตรตซึ่งติดไฟง่ายและดับได้ยาก และด้วยขนาดของฟิล์มที่เล็กลงกว่าครึ่งหนึ่งของฟิล์ม 35 มม. ทำให้ประหยัดเงินและพื้นที่เก็บ
นอกจากนี้อุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น กล้อง เครื่องฉาย และอุปกรณ์ตัดต่อที่ใช้กับฟิล์ม 16 มม. ก็มีขนาดเล็กลงตาม และมีการผลิตออกมาหลากหลายรุ่น หลายขนาด หลายราคา ตามแต่ฐานะของผู้ใช้ โดยถูกออกแบบให้มีความกะทัดรัดสะดวกต่อการพกพา มีกลไกการทำงานที่ไม่ซับซ้อน ง่ายต่อการใช้งานแม้ไม่ใช่มืออาชีพ และที่สำคัญคือราคาไม่แพงจนเกินไป ด้วยเหตุนี้ จึงมีการนำฟิล์ม 16 มม. ไปใช้งานกันหลากหลายวัตถุประสงค์ ทำให้สามารถขยับขยายตลาดสู่ผู้บริโภคในวงกว้างไปทั่วโลกโดยไม่จำกัดเพียงแค่ในแวดวงภาพยนตร์เท่านั้น
น่าสังเกตว่าแม้ฟิล์ม 9.5 มม. ที่บริษัทปาเต๊ะปล่อยออกมาหนึ่งปีก่อนหน้าจะมีขนาดที่เล็กกว่า แต่กลับไม่เป็นที่นิยมและทำตลาดได้เพียงเฉพาะกลุ่ม นั่นเพราะฟิล์ม 16 มม. นั้นมีคุณภาพของภาพที่เหนือกว่าด้วยขนาดฟิล์มที่ใหญ่กว่า ใช้งานได้อเนกประสงค์กว่า รวมทั้งสามารถปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้รวดเร็ว เช่น การผลิตฟิล์มสี 16 มม. Kodacolor ออกขายในปี ค.ศ. 1928 หรือเมื่อเทคโนโลยีเสียงในฟิล์มถูกพัฒนาขึ้นในปลายทศวรรษ 1920 ฟิล์ม 16 มม. ก็ปรับตัวให้บันทึกเสียงได้ในเวลาต่อมา ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ฟิล์ม 16 มม. เป็นที่ชื่นชอบของผู้ใช้งาน จนสามารถสถาปนาตัวเองเป็นฟิล์มมาตรฐานของนักทำหนังหลากหลายกลุ่มตั้งแต่มือสมัครเล่นไปจนถึงมืออาชีพ จนฟิล์ม 9.5 มม. หมดทางจะต่อกร
ภาพ: ตัวอย่างเครื่องฉายฟิล์ม 16 มม.
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ฟิล์ม 16 มม. กลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการผลิตภาพยนตร์ข่าว ภาพยนตร์ฝึกทหาร และบันทึกภาพเหตุการณ์ในสมรภูมิ แม้หลังสงครามการใช้ฟิล์ม 16 มม. ก็ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในแวดวงต่าง ๆ รวมถึงการสื่อสารมวลชน นักสร้างภาพยนตร์อิสระ ภาพยนตร์สารคดี ศิลปินแนวทดลอง หลายคนเลือก 16 มม. เนื่องจากมีราคาไม่แพงและพกพาสะดวก
ช่วงทศวรรษปี ค.ศ. 1950 และ 1960 ฟิล์ม 16 มม. กลายเป็นมาตรฐานสำหรับการรายงานข่าวทางโทรทัศน์ เพราะตอบสนองได้รวดเร็วสำหรับการแพร่ภาพออกอากาศ นอกจากนี้ในช่วงทศวรรษ 1960 ยังมีการพิมพ์สำเนาภาพยนตร์อเมริกันคลาสสิกรวมทั้งภาพยนตร์ใหม่ที่ออกฉาย หนังนอกกระแส หนังทดลอง และภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงจากทั่วโลก โดยย่อขนาดเป็นฟิล์ม 16 มม. ทำให้โรงภาพยนตร์ในมหาวิทยาลัยและสถานที่ฉายหนังอิสระเติบโตกันอย่างคึกคัก เพราะสามารถนำหนังเหล่านี้ไปจัดฉายในพื้นที่ได้ง่ายขึ้น ทำให้ผู้ชมมีโอกาสได้เสพงานภาพยนตร์ที่แตกต่างและหลากหลาย ซึ่งแต่เดิมดูได้เฉพาะในโรงภาพยนตร์ในเมืองใหญ่เท่านั้น ผลจากการได้เข้าถึงงานภาพยนตร์ชั้นดีจากทั่วโลกย่อมมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาคนดูและพัฒนาการศึกษาภาพยนตร์ในเชิงวิชาการ ในขณะเดียวกัน ความพร้อมของอุปกรณ์ 16 มม. รวมทั้งราคาที่เอื้อมถึง ยังช่วยส่งเสริมให้นักเรียนนักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติและเรียนรู้การผลิตภาพยนตร์ด้วยตนเองได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้แล้วฟิล์ม 16 มม. ยังมีบทบาทในการใช้สอนศาสนาในโบสถ์ ใช้บันทึกการทดลองทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทำวิจัย การเคลื่อนไหวทางการเมือง ใช้ในหน่วยงานรัฐ ในการฝึกอบรม การประชาสัมพันธ์ การโฆษณา และการใช้งานอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การถ่ายภาพยนตร์ระดับมืออาชีพ
-- ฟิล์ม 16 มม. ในประเทศไทย --
แม้จะผลิตมาเพื่อให้เข้าถึงง่าย แต่ระยะเริ่มต้นของการใช้ฟิล์ม 16 มม. ในสยามนั้นยังจำกัดแคบอยู่ในแวดวงราชสำนักเป็นหลัก หนึ่งในผู้ที่มีบทบาทมากที่สุดคือ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงมีพระราชนิยมในภาพยนตร์อย่างมาก เมื่อทรงขึ้นครองราชย์ ใน พ.ศ. 2468 เพียงสองปีหลังจากการเกิดขึ้นของฟิล์ม 16 มม. ก็พบหลักฐานว่าทรงถือกล้องถ่ายภาพยนตร์ 16 มม. ติดพระหัตถ์อยู่เสมอ โดยภาพยนตร์ส่วนพระองค์ที่ถ่ายทำในระยะแรกจะใช้ชื่อว่า “ภาพยนตร์ทรงถ่าย” ก่อนจะทรงเปลี่ยนชื่อเป็น “ภาพยนตร์อัมพร” ตั้งแต่ปี 2471 ซึ่งนอกจากภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์ ยังทรงถ่ายทำภาพยนตร์แบบดำเนินเรื่องด้วย
เจ้านายพระองค์ต่อมาที่มีบทบาทในการใช้ฟิล์ม 16 มม. อย่างสำคัญคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ผู้ทรงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั้งในสยามและต่างประเทศถึงพระราชนิยมและความรอบรู้ด้านภาพยนตร์ทรงใช้ฟิล์มภาพยนตร์ 16 มม. ในการบันทึกเหตุการณ์สำคัญและเผยแพร่พระกรณียกิจต่าง ๆ รวมไปถึงทำภาพยนตร์ทดลอง โดยทรงตั้งชื่อภาพยนตร์ส่วนพระองค์ว่า “บ้านดอกไม้ฟิล์ม” ตามชื่อวังที่ประทับ ต่อมาในปี พ.ศ. 2473 เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงจัดตั้ง “สมาคมภาพยนตร์สมัครเล่นแห่งสยาม” ในพระบรมราชูปถัมภ์ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธินทรงได้รับเลือกให้เป็นองค์อุปนายกในปีแรก และเป็นนายกสมาคมในปีถัดมา กล่าวได้ว่าพระราชนิยมในภาพยนตร์สมัครเล่นอย่างแข็งขันของเจ้านายทั้งสองพระองค์นี้ มีส่วนให้การถ่ายภาพยนตร์ฟิล์ม 16 มม. ในสยามคึกคักและแพร่หลายไปในหมู่เจ้าขุนมูลนายตลอดจนราษฎรผู้มีฐานะ กระทั่งหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 กิจการถ่ายภาพยนตร์สมัครเล่นของราชสำนักสมัยรัชกาลที่ 7 ก็หมดบทบาทลงในสยาม
ในขณะที่ภาพยนตร์ 16 มม. กลายเป็นงานอดิเรกในหมู่ชนชั้นสูงและผู้มีฐานะ ชาวสยามทั่วไปกลับคุ้นเคยกับฟิล์มภาพยนตร์ 35 มม. มากกว่า เพราะเป็นมหรสพบันเทิงราคาถูกที่เข้าถึงได้ง่าย จนเมื่อ เลื่อน พงษ์โสภณ อดีตนักบินและช่างยนต์เลื่องชื่อ ซึ่งหันมาเล่นการเมืองเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา ได้สร้างภาพยนตร์พากย์เรื่อง เมืองทอง ถ่ายด้วยฟิล์มรีเวอร์ซัล ขาวดำ 16 มม. ซึ่งใช้ต้นทุนน้อยและถ่ายทำได้ง่ายกว่า นำออกฉายในโรงภาพยนตร์ทั้งเพื่อการค้าและโฆษณาหาเสียง ถือเป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ถ่ายทำด้วยฟิล์ม 16 และเป็นต้นแบบให้เกิดผู้สร้างหนังไทย 16 มม. รายอื่น ๆ ตามมา เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เริ่มสร้างความคุ้นเคยให้คนดูคุ้นชินกับฟิล์มหนังที่มีขนาดเล็กลง
ภาพ: ตัวอย่างกล้องและกล่องฟิล์ม 16 มม. จากสมัยรัชกาลที่ 7 ในตู้จัดแสดงอุปกรณ์ถ่ายหนังสมัครเล่นภายในพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย
ในช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งอุบัติขึ้นในประเทศไทยปลายปี 2484 จึงมีหนังไทยที่ถ่ายทำด้วยฟิล์ม 16 มม. ออกฉายประปรายควบคู่ไปกับหนัง 35 มม. เช่น สามปอยหลวง (2483) ของ ไตรภูมิภาพยนตร์ ซึ่งใช้ฟิล์ม 16 มม. รีเวอร์ซัล สีโกดักโครมเป็นเรื่องแรก, แม่ศรีเมือง (2484) ของอุบลภาพยนตร์ โดย เลียง ไชยกาล สส. อุบลราชธานี, วัยคนอง (2486) ของกรมสาธารณสุข ฯลฯ ท่ามกลางความซบเซาของวงการภาพยนตร์อันเนื่องมาจากพิษสงคราม แต่ภายหลังสงครามสงบลงภาพยนตร์ไทยที่ออกมานับจากนั้นเกือบทั้งหมดล้วนแต่เป็นหนังพากย์ 16 มม. ทั้งสิ้น เริ่มตั้งแต่เรื่องแรกคือ ชายชาตรี (2489) ของปรเมรุภาพยนตร์ เรื่อยมาจนถึง สุภาพบุรุษเสือไทย (2492) ที่สร้างปรากฏการณ์ทำรายได้สูงสุดกว่าหนังทุกเรื่องและทุกชาติที่เข้าฉายในไทยก่อนหน้านั้น โดยหนึ่งในผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้คือ แท้ ประกาศวุฒิสาร ผู้ที่มีความนิยมในฟิล์มภาพยนตร์ 16 มม. โดยใช้ถ่ายบันทึกเหตุการณ์สำคัญของบ้านเมืองไว้มากมาย เช่น น้ำท่วมกรุงเทพ 2485, รัฐประหาร 2490
ความสำเร็จของ สุภาพบุรุษเสือไทย ได้กลายเป็นแรงดลใจให้มีผู้สร้างหนังไทย 16 มม. พากย์สด ออกมากันอย่างคึกคัก จนเหลือเพียงน้อยรายเท่านั้นที่ยังคงยืนหยัดสร้างผลงานในระบบฟิล์ม 35 มม. ซึ่งยุ่งยากและมีต้นทุนสูง ประกอบกับหลัง พ.ศ. 2500 กระแสความนิยมในตัวดาราภาพยนตร์ได้พุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเกิดคู่ขวัญ มิตร ชัยบัญชา-เพชรา เชาวราษฎร์ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนยุคทองของหนังไทย 16 มม. พากย์สดอย่างยาวนานจนกลายเป็นขนบ และมีการสร้างออกมาปีละนับร้อยเรื่อง นอกจากจะทำให้งานผลิตภาพยนตร์เป็นเรื่องง่ายและถูกลงแล้ว ฟิล์ม 16 มม. ยังทำให้การจัดฉายภาพยนตร์มีความคล่องตัวและสะดวกขึ้นด้วย เพราะด้วยขนาดฟิล์มและเครื่องฉายที่เล็กและราคาถูก พกพาไปฉายนอกสถานที่ได้ง่าย ทำให้เกิดกิจการฉายหนังเคลื่อนที่ขึ้นหลากหลายรูปแบบ ทั้งหนังเร่ หนังกลางแปลง หนังขายยา ซึ่งเฟื่องฟูอย่างมากหลังสงคราม
ในแง่หนึ่ง ฟิล์มภาพยนตร์ 16 มม. ได้ทำหน้าที่ทั้งชุบชีวิตวงการหนังไทย สร้างรายได้ให้แก่คนในอุตสาหกรรม และมอบความสุขให้แก่ผู้ชม รวมถึงกลายเป็นเอกลักษณ์แบบไทย ๆ ที่ไม่อาจหาได้จากที่ใดในโลก แต่ในอีกแง่หนึ่ง ความสะดวกรวดเร็วและประหยัดต้นทุนของการใช้ฟิล์ม 16 มม. มาถ่ายภาพยนตร์เรื่อง ได้มีส่วนทำให้คุณภาพของหนังไทยหยุดนิ่ง มักเกิดการสร้างแบบ “สุกเอาเผากิน” และมีเนื้อหาที่ซ้ำซากจนถูกค่อนขอดว่า “น้ำเน่า” ทั้งยังไม่อาจนำไปสร้างชื่อเสียงยังต่างประเทศที่ฉายแต่ระบบ 35 มม. ได้ และที่สำคัญ คุณสมบัติการเป็นฟิล์มที่ล้างแล้วนำมาใช้งานได้เลย ไม่มีเนกาทิฟเป็นแม่พิมพ์เก็บไว้เหมือนฟิล์ม 35 มม. ทำให้ฟิล์มหนังไทย 16 มม. นับพัน ๆ เรื่อง เมื่อผ่านการใช้งานแล้วก็สูญหายหรือเสื่อมสลายไป รอดชีวิตมาได้จนปัจจุบันไม่ถึงครึ่ง ซึ่งล้วนไม่มีเสียง และน้อยเรื่องที่จะมีสภาพสมบูรณ์
ในช่วงเวลาเดียวกับยุคทองของหนังไทย 16 มม. กิจการโทรทัศน์ในประเทศไทยได้ถือกำเนิดขึ้นใน พ.ศ. 2498 โดยในช่วงสองทศวรรษแรกยังคงต้องใช้ฟิล์มภาพยนตร์ 16 มม. เป็นสื่อหลักในการเผยแพร่เนื้อหา ทั้งข่าว โฆษณา รายการสารคดี ภาพยนตร์โทรทัศน์ นอกจากนี้ในปีที่โทรทัศน์ไทยถือกำเนิด ยังเป็นปีเดียวกับที่ ปยุต เงากระจ่าง นำฟิล์มสี 16 มม. มาสร้างภาพยนตร์การ์ตูนไทยสำเร็จเป็นเรื่องแรก ชื่อว่า เหตุมหัศจรรย์ ก่อนที่เขาจะได้รับการสนับสนุนจากสำนักข่าวสารอเมริกันให้ไปศึกษาการทำแอนิเมชันที่ญี่ปุ่น เพื่อผลิตภาพยนตร์การ์ตูนต่อต้านคอมมิวนิสต์ตามมาอีก 2-3 เรื่อง โดยสำนักข่าวสารอเมริกันนี้นับเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานสำคัญที่ใช้ประโยชน์จากฟิล์ม 16 มม. ผลิตเนื้อหาโฆษณาชวนเชื่อแก่สังคมไทยในรูปแบบต่าง ๆ ออกมาเป็นจำนวนมากในช่วงสงครามเย็น ซึ่งล้อไปกับยุคทองของหนังไทย 16 มม. โดยสันนิษฐานว่าผลิตต้นฉบับด้วยฟิล์ม 35 มม. และทำสำเนาเป็นฟิล์ม 16 มม. เพื่อเผยแพร่ไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ
ภาพ: กองถ่ายภาพยนตร์เรื่อง สามรักในปารีส (2499) ตัวอย่างหนังไทยยุค 16 มม. ที่ถ่ายพร้อมกันสองกล้อง
นอกจากนี้ ความสะดวกของฟิล์ม 16 มม. ที่สามารถถ่ายแล้วล้างฟิล์มเองได้ที่บ้าน เพราะมีถังสำเร็จล้างง่าย ทำให้มีผู้ซื้อนำมาถ่ายเป็นหนังบ้าน เมื่อมีความนิยมจึงมีผู้ตั้งร้านรับล้าง โดยเฉพาะบรรดาร้านถ่ายรูปที่มักจะรับล้างฟิล์มภาพยนตร์ 16 มม. ด้วย ทั้งขาวดำและสี ยกเว้นสีโกดักโครม ซึ่งสีสวยพิเศษและทนทานมาก จะต้องส่งไปล้างที่แล็บโกดักต่างประเทศดยเฉพาะ (มีทั้งแบบซื้อฟิล์มรวมค่าล้างและแบบไม่รวมค่าล้าง) โดยฟิล์มสีโกดักโครมนั้นเป็นรุ่นที่ผู้สร้างหนังไทยนิยมใช้ ปี พ.ศ. 2512 รัฐบาลยอมให้สิทธิบัตรส่งเสริมการลงทุนแก่ผู้สร้างภาพยนตร์ไทย โดยมีเงื่อนไขหนึ่งระบุว่าจะต้องสร้างภาพยนตร์ในระบบ 35 มม. เท่านั้น ในปีดังกล่าว เริ่มมีผู้สร้างภาพยนตร์ไทยด้วยฟิล์ม 35 มม. ออกมามากขึ้น ปีถัดมา มิตร ชัยบัญชา ได้แสดงนำในหนังเพลง 35 มม. เรื่อง มนต์รักลูกทุ่ง ซึ่งได้รับความนิยมจนยืนโรงนานหลายเดือน ในขณะที่ตัวเขาเองก็รับหน้าที่กำกับครั้งแรก ในภาพยนตร์ 35 มม. เรื่อง อินทรีทอง แต่กลับเกิดโศกนาฏกรรมขณะถ่ายทำฉากจบของภาพยนตร์จนเสียชีวิตอย่างกะทันหันในวันที่ 8 ตุลาคม ทั้งหมดนี้มีส่วนสำคัญให้ยุคหนัง 16 มม. ของไทยต้องปิดฉากลงอย่างสิ้นเชิงในอีก 2 ปีต่อมา เมื่อแนวโน้มของตลาดเริ่มกลับไปสู่ภาพยนตร์ 35 มม. มากขึ้น ในขณะที่พระเอกดาราทองผู้เป็นสัญลักษณ์ของหนังไทย 16 มม. ได้หมดลมหายใจลง
แม้ระบบอุตสาหกรรมภาพยนตร์ 16 มม. ของไทยจะจบลงไปแล้ว แต่ฟิล์ม 16 มม. ยังเป็นช่องทางให้ผู้สร้างหนัง 35 มม. ทำสำเนาย่อฉบับฟิล์ม 16 มม. เพื่อขายในตลาดหนังบ้านหรือหนังการศึกษา เนื่องจากในสถานศึกษา โรงเรียน และวิทยาลัยต่าง ๆ ก็จัดหาเครื่องฉายหนัง 16 มม. มาประจำเพื่อใช้ในการเรียนการสอนและสันทนาการ รวมทั้งในโรงงานหลายแห่งจะที่มีเครื่องฉายไว้เพื่อเช่าหนังมาฉายให้ความบันเทิงคนงาน ตลอดจนหน่วยงานรัฐ เช่น ศูนย์เทคโนโลยีการศึกษา กรมการศึกษานอกโรงเรียน หรือกรมอนามัย ซึ่งได้จัดหาสำเนาฟิล์ม 16 มม. นี้มาจัดฉายเผยแพร่เป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมของหน่วยงาน นอกเหนือจากผลิตภาพยนตร์เกี่ยวกับหน่วยงานเองด้วยฟิล์ม 16 มม. ปัจจุบันมีภาพยนตร์ไทย 35 มม. หลายเรื่องที่ไม่พบฟิล์มต้นฉบับแล้ว แต่ยังคงหลงเหลือสำเนาย่อฉบับ 16 มม. ที่หอภาพยนตร์ได้รับจากหน่วยงานเหล่านี้มาอนุรักษ์ไว้อยู่ เช่น ตลาดพรหมจารีย์ (2516) ฝ้ายแกมแพร (2518) ประสาท (2518) ฯลฯ นับว่าฟิล์ม 16 มม. ได้มีส่วนช่วยเก็บรักษาหนังไทยจำนวนหนึ่งไว้ในทางอ้อม
บทบาทอีกอย่างหนึ่งของฟิล์ม 16 มม. คือเป็นสื่อในการสร้างสรรค์ฝีมือและความคิดของผู้สร้างภาพยนตร์อิสระหรือสมัครเล่นในไทยมาตั้งแต่ยุคก่อน 2500 ซึ่งก่อให้เกิดผลงานสำคัญในประวัติศาสตร์มากมาย เช่น กะเทยเป็นเหตุ (2498) ทองปาน (2520) ประชาชนนอก (2524) สำเพ็ง (2525) ฯลฯ ก่อนที่จะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุควิดีโอเทป
ปัจจุบัน หอภาพยนตร์ได้อนุรักษ์ฟิล์มภาพยนตร์ 16 มม. ที่เคยเป็นส่วนสำคัญของสังคมไทย ทั้งหนังส่วนพระองค์ หนังเรื่อง หนังข่าว หนังโทรทัศน์ หนังบันทึกเหตุการณ์ หนังบ้าน หนังทดลอง ฯลฯ เป็นจำนวนมากนับพันรายการ และก่อนจะผ่านพ้นปี 2566 ที่โถงสว่าง ชั้น 5 อาคารสรรพสาตรศุภกิจ จะมีงานศิลปะจัดวางเนื่องในวาระ 100 ปี ฟิล์มภาพยนตร์ 16 มม. LEAVE US TO COMPLETE THE FILMS ที่จะจัดแสดงระหว่างวันที่ 3 ธันวาคม 2566 - 3 มีนาคม 2567 รวมทั้งกิจกรรม 16 Rolling จะนำฟิล์มบางส่วนจากคลังอนุรักษ์มาจัดฉายรอบพิเศษในวันอาทิตย์ที่ 3 ธันวาคม 2566 อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ <<คลิก>>
โดย วินัย สมบุญณา และ พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู
ที่มา: จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 78 ประจำเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2566