จดหมายไขปริศนา S.G. Marchovsky

ปลายเดือนพฤษภาคม 2566 โดม สุขวงศ์ ผู้ก่อตั้งหอภาพยนตร์ ได้รับอีเมลจาก อัญชลี ชัยวรพร นักวิชาการภาพยนตร์ ว่ามีนักศึกษาภาพยนตร์จากประเทศโปแลนด์ชื่อว่า อาร์คาดิอุส โคซิโอรอฟสกี (Arkadiusz Koziorowski) ได้สืบร่องรอยของ S.G. Marchovsky บุคคลซึ่งโดมเคยค้นพบว่าเขาเป็นผู้ฉายภาพยนตร์แก่สาธารณชนเป็นคนแรกในเมืองไทย เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2440 แต่ไม่เคยทราบข้อมูลใด ๆ เพิ่มเติมนอกจากชื่อย่อดังกล่าว โดยอัญชลีได้แนบจดหมายภาษาอังกฤษของอาร์คาดิอุส ที่บอกเล่าถึงผลการค้นคว้าหลักฐานของเขาจนสามารถระบุตัวตนของ S.G. Marchovsky ได้


หอภาพยนตร์ได้ดำเนินการติดต่ออาร์คาดิอุส ซึ่งขณะนั้นศึกษาอยู่ที่ University of Gdansk เพื่อขออนุญาตแปลจดหมายของเขา และนำมาเผยแพร่ลงในจดหมายข่าวฉบับนี้ เนื่องในวาระครบรอบวันกำเนิดภาพยนตร์ในสยาม 10 มิถุนายน จากการฉายหนังของ S.G. Marchovsky ให้ผู้อ่านชาวไทยที่สนใจประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ได้รับทราบและสามารถนำไปต่อยอดศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมได้ในอนาคต หอภาพยนตร์ขอขอบคุณ อาร์คาดิอุส โคซิโอรอฟสกี สำหรับการอนุญาตให้เผยแพร่การค้นคว้าครั้งนี้ และขอบคุณ อัญชลี ชัยวรพร ที่ได้กรุณาส่งต่อข้อมูลสำคัญนี้มาให้แก่ โดม สุขวงศ์ 


พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู แปล

หมายเหตุ – จดหมายฉบับแปลนี้ได้คงรูปแบบตัวเอียงและเครื่องหมายอัญประกาศตามจดหมายต้นฉบับ รวมทั้งคงชื่อ S. G. Marchovsky แบบต่าง ๆ เป็นอักษรโรมัน เนื่องจากเป็นประเด็นสำคัญของเนื้อหา 

-------------------------------------------------


เรียน ทุกท่านด้วยความเคารพ


ผมเขียนมาเพื่อแจ้งให้ทราบถึงกรณีศึกษาเรื่อง S.G. Marchovsky ผู้จัดฉายภาพยนตร์แก่สาธารณชนครั้งแรกในเมืองไทย ผู้เป็นหัวข้อในงานวิจัยของผมตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา จดหมายฉบับนี้ ผมได้อธิบายถึงการค้นพบที่จะช่วยเติมเต็มช่องว่างเล็ก ๆ ให้เราได้รู้ หลังจากที่ไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่า ผู้ชายคนนี้คือใคร จนกระทั่งถึงตอนนี้ 


ปลายปี ค.ศ. 1895 พี่น้องลูมิแอร์ได้นำประดิษฐกรรมซีเนมาโตกราฟ ออกจัดฉายแก่สาธารณชนในกรุงปารีส ซึ่งต่อมาได้รับการยอมรับว่าเป็นการจัดฉายภาพยนตร์แบบเก็บค่าเข้าชมครั้งแรกของโลก หลังความสำเร็จครั้งนั้น พวกเขาได้ส่งเจ้าหน้าที่กว่า 50 คณะไปทั่วโลก เพื่อนำหนังไปเร่ฉายในทุก ๆ ประเทศ อย่างไรก็ตาม การฉายหนังครั้งแรกในเมืองไทย กลับไม่ได้เกิดจากทีมงานของลูมิแอร์ หากแต่เป็นชายที่ชื่อ S.G. Marchovsky


จากข้อมูลของ โดม สุขวงศ์ นักอนุรักษ์ภาพยนตร์ผู้ค้นคว้าเรื่องนี้มายาวนาน 1  Marchovsky จัดฉายหนังอย่างน้อย 6 ครั้ง ในเดือนมิถุนายน ค.ศ 1897 ทั้งรอบสาธารณะที่โรงละครหม่อมเจ้าอลังการ และรอบพิเศษสำหรับเจ้านายในราชสำนัก โดยหลักฐานหลัก ๆ มาจากแจ้งความโฆษณาในหนังสือพิมพ์ บางกอกไตมส์ ซึ่งกล่าวถึง Parisian Cinematograph และชื่อเจ้าของคือ S.G. Marchovsky แม้โดมจะพยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับเขา แต่กลับไม่พบรายละเอียดใด ๆ เพิ่มเติม คำว่า Parisian นั้นบ่งบอกว่านี่คือประดิษฐกรรมของพี่น้องลูมิแอร์ แต่ Marchovsky ไม่ได้อยู่ในรายชื่อเจ้าหน้าที่ของพวกเขา โดมจึงลงความเห็นว่า เขาน่าจะเป็นผู้ที่ซื้อซีเนมาโตกราฟมาออกเร่ฉายด้วยตนเอง และจนถึงตอนนี้เราก็ยังไม่ทราบที่มา หรือแม้กระทั่งชื่อเต็มของเขาเลย


 

ภาพ: แจ้งความการฉายหนังในสยามของ S.G. Marchovsky จากหนังสือพิมพ์บางกอกไตมส์

อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ ผมได้เริ่มสืบค้นเรื่องราว Marchovsky จากฐานข้อมูลทั้งหมดที่มีในอินเตอร์เน็ต ไม่เพียงแต่จะทำให้ได้รู้อาชีพของเขาหลังจากนั้น หากแต่ผมยังสามารถเรียบเรียงประวัติเขาได้คร่าว ๆ รวมทั้งได้ติดต่อกับเหลนของเขาด้วย 


เริ่มแรก ผมบังเอิญพบการโฆษณาฉายหนังของเขาที่แซงต์ เดอนีส์ บนเกาะเรอูนียง (เกาะที่อยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส ใกล้กับมาดากัสการ์) ในเดือนมิถุนายนและกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1902 โดยจัดฉายอย่างน้อยห้ารอบ (ระหว่าง 25 ม.ค. ถึง 2 ก.พ.) ที่โรงละครประจำเมือง ซึ่งมีหลักฐานปรากฏเป็นประกาศและรายงานในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น “Le Journal de l'île de La Réunion” และ “La Patrie créole”. 



คราวนี้ Marchovsky ใช้ชื่อว่า Cinématographe Royal Perfectionné แทนที่จะเป็น Parisian Cinematograph พร้อมระบุเหตุผลว่าเป็น “การแสดงอันน่าตื่นตาที่ประสบความสำเร็จในการฉายต่อหน้าพระพักตร์ของกษัตริย์แห่งสยามและเชื้อพระวงศ์” 2 แม้ในความเป็นจริง การที่เขาได้ฉายถวายในราชสำนักนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 5  จะไม่ได้ทรงร่วมทอดพระเนตรด้วยก็ตาม เนื่องจากขณะนั้น พระองค์ทรงอยู่ระหว่างการเสด็จประพาสยุโรป ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงธันวาคม ค.ศ. 1897 ซึ่งทรงได้รู้จักประดิษฐ์กรรมภาพยนตร์อย่างคิเนโตสโคปมาก่อนแล้ว รวมถึงได้ทรงถูกถ่ายภาพยนตร์โดยช่างถ่ายหนังชาวสวิสแล้วด้วย 3 เว้นเสียแต่ว่า Marchovsky จะอยู่ในเมืองไทยต่ออีกนานและมีการจัดฉายรอบอื่น ๆ ในวัง ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้ นี่คงเป็นแค่การการโกหกเพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้ชม แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ในหนังสือพิมพ์ทั้งสองฉบับระบุชื่อ Marchovsky ว่า M. (Monsieur) Marchevsky และ M. Marchewsky


ครั้งนี้เรารู้โปรแกรมฉายในรอบแรก 4 ว่าประกอบด้วยหนังอย่างน้อย 17 เรื่อง และเขาอ้างว่า จะเปลี่ยนรายการฉายหนังในทุก ๆ รอบ โดยผมสามารถระบุข้อมูลของบางเรื่องได้ว่ามาจากผู้สร้างที่ต่างกันไป เช่น โทมัส เอดิสัน  (La Village Suisse, Exposition de 1900), จอร์จ เมลิเยส์ (Le Trottoir Roulant), บริษัทปาเต๊ะ (Entrée de Dreyfus au conseil de Guerre, Episode de la guerre du Transvaal) และ หลุยส์ ลูมิแอร์ (Les funérailles de la reine Victoria and La danse Serpentine. Loie Fuller, en couleurs) สิ่งนี้เป็นการยืนยันว่า Marchevsky ไม่ใช่พนักงานของบริษัทลูมิแอร์จริง ๆ  และมีแค่บางเรื่องเท่านั้นที่ดูเก่าหน่อย เช่น Defense d’Afficher (ค.ศ. 1896) ของเมลิเยส์  แต่หนังส่วนใหญ่ในโปรแกรมนี้ถูกสร้างขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1899 ถึง 1901 โปรแกรมของ Marchevsky จึงค่อนข้างเป็นปัจจุบัน เขาคงคอยปรับเปลี่ยนมัน เพราะครั้งนี้ก็ไม่มีเรื่อง Boxer และ Scaphandrier ที่ฉายในเมืองไทยเมื่อห้าปีก่อนแล้วด้วย นั่นอาจอธิบายได้ว่า เขาเอาจริงเอาจังกับการจัดฉายหนังในช่วงระหว่างปีดังกล่าว แต่น่าเสียดายที่ผมไม่พบเบาะแสเกี่ยวกับกิจกรรมด้านภาพยนตร์ของเขาเพิ่มอีก นอกจากที่กรุงเทพฯ และ แซงต์ เดอนีส์ 


การฉายหนังครั้งนี้ของเขาประสบความสำเร็จพอสมควร รอบแรก คนยังน้อยอยู่เพราะมีงานคอนเสิร์ตจัดขึ้นพร้อมกันในเมือง 5 แต่รอบถัดมา ว่ากันว่า ผู้ชมแน่นโรงเว้นแค่ที่นั่งชั้นหนึ่งเท่านั้น 6 ซึ่งนั่นอาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ Marchevsky ลดค่าตั๋วลงหลังจากการฉายสองรอบแรก จากราคาเริ่มต้นคือ 3 ฟรังค์ สำหรับที่นั่งชั้นหนึ่ง 1.25 ฟรังค์ สำหรับชั้นสอง และครึ่งเซนต์ สำหรับชั้นถูกที่สุด 7 เขาลดเหลือ 2 ฟรังค์ 1 ฟรังค์ และครึ่งเซนต์ ตามลำดับ 8 มันอาจจะดูเป็นเรื่องเทคนิคทางการตลาด แต่ก็ยังตีความได้ว่า การฉายหนังนั้นไม่ได้ดึงดูดผู้คนได้มากเท่าที่คาดไว้ อย่างไรก็ตาม บรรดานักข่าวกลับค่อนข้างชื่นชมรายการนี้ พวกเขาชอบเรื่อง La danse Serpentine เป็นพิเศษ และชอบหนังเกี่ยวกับคดีเดรย์ฟัส และชอบเพลงที่เล่นประกอบด้วยเครื่องโฟโนกราฟ 9 แม้แต่ผู้อำนวยการของ “Le Journal de l'île de La Réunion” ก็ยังยกย่องโชว์นี้ 10 แต่ถึงกระนั้น ยังมีการตำหนิถึงภาพที่ค่อนข้างมืด Marchevsky อาจจะไม่ได้ใส่ใจสภาพเครื่องซีเนมาโตกราฟของเขา 11 นอกจากนี้ ในรายงานดังกล่าว ยังกล่าวถึงพฤติกรรมเสื่อมเสียของผู้ชม รวมทั้งระบุถึง Marchevsky ว่าเป็น étranger ซึ่งแม้โดยปรกติแล้วจะหมายถึง คนแปลกหน้า แต่ส่วนมากก็มักจะมีนัยถึงผู้คนที่มาจากต่างประเทศ ซึ่งอาจแปลได้ว่า เขาไม่ได้มีพื้นเพเป็นคนฝรั่งเศส 


หลังวันที่ 2 กุมภาพันธ์ Marchevsky ดูเหมือนจะหายไปอีกครั้ง บทความหนึ่งซึ่งตำหนิถึงการจัดฉายในโรงละครที่แซงต์ เดนีส์ 12 ได้ระบุว่า Marchevsky มีปัญหาเกี่ยวกับความสว่างของภาพ และด้วยเหตุนั้น “เขาจึงจับรถไฟเที่ยวแรกสุดไป แซงต์ ปิแอร์” เมืองเล็ก ๆ ที่อยู่อีกฝั่งของเกาะ โชคร้ายที่ผมไม่สามารถหาหนังสือพิมพ์เก่าในปี 1902 ของที่นั่นได้เลย แต่เราอาจจะพออนุมานได้ว่าเขาน่าจะจัดฉายหนังในเมืองนั้นเช่นกัน 

 

มีนาคม ค.ศ. 1902 หนังสือพิมพ์ “Le Journal de l'île de La Réunion” ลงแจ้งความโฆษณาว่า Phonographe Perfectionné และ Cinématographe Royal ประกาศขายลดราคา เพราะต้อง “ออกเดินทาง” แม้จะไม่ได้ลงชื่อผู้ขาย แต่ก็น่าจะต้องเป็น Marchevsky เพราะเขาเป็นคนเดียวในแซงต์ เดอนีส์ ที่นำเสนอซีเนมาโตกราฟและโฟโนกราฟในเวลานั้น นอกจากนี้คำดังกล่าวยังเป็นคำเฉพาะตัวของเขาด้วย (royal, perfectionné) โฆษณานี้ลงประกาศซ้ำเดิมอยู่อย่างน้อย 6 ครั้งตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 14 มีนาคม 13 โดยไม่ทราบว่าทำไมเขาจึงต้องการขายมันและขายได้สำเร็จหรือไม่ บางทีอาจเพราะเขาไม่สามารถแก้ไขเรื่องคุณภาพการฉายได้ หรือไม่ก็คาดหวังว่าจะได้ยอดผู้ชมมากกว่านี้  แต่ไม่ว่าจะอย่างไร นั่นก็ทำให้เราคลาดจากเบาะแสเกี่ยวกับตัวเขาอีกครั้ง

 

จากหลักฐานที่ค้นพบ เราสามารถตั้งสมมติฐานบางอย่างเกี่ยวกับตัวตนของเขาได้ แม้ S.G. Marchevsky จะมีช่วงเวลาที่อยู่ในฝรั่งเศส (เกาะเรอูนียง กับกรุงปารีส ที่ซึ่งเขาซื้อซีเนมาโตกราฟ) และคงจะพูดฝรั่งเศสได้ แต่เขาก็น่าจะเป็นคนต่างชาติ คำว่า sky ที่อยู่ท้ายนามสกุล ทำให้ดูเหมือนว่าอาจจะเป็นพวกยุโรปตะวันออก และเขาก็ควรจะยังหนุ่มแต่มีประสบการณ์มากพอที่จะเดินทางไกล  ผมจึงประเมินว่าเขาน่าจะเกิดอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1842 ถึง 1872  


 


ระหว่างสืบค้นหาคนที่ดูใกล้เคียงกับคุณสมบัติดังกล่าว ผมได้พบเอกสารรายชื่อผู้เดินทางเข้าเมืองซาน ฟรานซิสโก เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 1907 จำนวน 6 คน 14  หนึ่งในนั้นมีชื่อ “S G Marchovsky”  (พ่อค้า, อายุ 44 ปี) และครอบครัวอันประกอบด้วย ภรรยา มารี (24 ปี) กับลูกสองคน คือ ลีออน (2 ปี) และ มัวริซ ( 10 เดือน)  พวกเขาเป็นพลเมืองฝรั่งเศสที่มาพร้อมกับสัมภาระ 15 ใบ ซึ่งนับว่ามากทีเดียว ข้อมูลนี้น่าจะเข้ากับลักษณะของ Marchevsky ที่ผมตั้งสมมติฐานไว้ได้ดี อาชีพพ่อค้าก็ดูเหมาะสมกับการที่เขาจะมีกำลังซื้อเครื่องซีเนมาโตกราฟและออกเร่ แม้เอกสารนี้จะบอกว่าเขาเป็นคนฝรั่งเศส (ซึ่งก็อาจจะเป็นไปได้) แต่หลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่ผมค้นพบกลับทำให้ประเด็นนี้ซับซ้อนขึ้น 



มีบุคคลนามว่า  “Schulem Joseph Marchosky” ได้ยื่นเอกสารแสดงความจำนงเปลี่ยนสัญชาติเป็นอเมริกัน ที่นครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ. 1914 15 เขาผู้นี้เกิดปี 1863 มีอาชีพพนักงานขาย และเดินทางเข้าเมืองที่ท่าเรือ ซาน ฟรานซิสโก เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ. 1907  โดยเรือชื่อ ดอลลาร์  ข้อมูลนี้ตรงกับ “S G Marchovsky” อย่างชัดเจน เอกสารชิ้นนี้ยังให้รายละเอียดอื่น ๆ อีก ทั้งระบุว่าเขาเป็นคนขาว (ที่ออกไปทางคล้ำ) สูง 5 ฟุต 4 นิ้ว และหนัก 150 ปอนด์ เกิดที่เมือง “ยาสซี่” (Iași) ประเทศโรมาเนีย เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 1863 และอยู่ภายใต้การปกครองของ “กษัตริย์ชาร์ลส์ 16 แห่งโรมาเนีย” ที่มันดูสับสนก็เพราะว่าในรายชื่อผู้เดินทาง เขาระบุประเทศบ้านเกิดว่าเป็นฝรั่งเศส แม้ว่าอาจเป็นแค่เรื่องเข้าใจผิดก็ได้ จากเอกสารนี้ เรายังรู้ที่อยู่เขาในนิวยอร์ก และที่สุดท้ายที่เขาอาศัยก่อนมาอเมริกา คือเมือง เทียนจิน ประเทศจีน ซึ่งก็ดูเป็นไปได้ถ้าจะพิจารณาว่า Marchovsky มีความเกี่ยวข้องกับฝรั่งเศส เพราะในเวลานั้น มีทหารบางประเทศถูกส่งไปประจำการที่เทียนจิน เช่น สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น รัสเซีย และฝรั่งเศส รวมทั้งผมยังพบรายชื่อผู้โดยสารบนเรือชื่อ ตูร์เรียลบา ที่ล่องมาจากเมืองโคลอน ประเทศปานามา 17 โดยปรากฏชื่อ Joseph Marchosky (พ่อค้า อายุ 49 ปี) เป็นลูกทัวร์และมุ่งหน้ามายังนิวยอร์ก ที่เขาอาศัยอยู่ เอกสารนี้มาจากวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ 1914 แต่ในสัญชาติของ Marchovsky ระบุว่าเป็นโรมาเนีย แปลว่า เจ็ดปีผ่านไป เขายังไม่ได้สัญชาติอเมริกัน และยังคงอาศัยอยู่ที่นิวยอร์ก 

 



จากจุดนั้น ผมเริ่มค้นเรื่องของ Shulem Joseph Marchovsky ในฐานข้อมูลลำดับวงศ์ตระกูลออนไลน์ของเว็บไซต์  ancestry.com น่าแปลกใจที่มีคนบันทึกข้อมูลเขาไว้ด้วย 18 ทำให้ได้เห็นสาแหรกครอบครัวของเขา ทั้งมาเรียม ฮัสซัน ผู้เป็นภรรยา และลูก ๆ หกคน ซึ่งรวมถึง ลีโอ และ มัวริซ  วันและสถานที่เกิดก็ตรงกับที่ผมเคยพบ โดยข้อมูลชุดนี้ระบุว่า Marchosky ตายที่โคลอนในปี ค.ศ. 1933 และจากเว็บไซต์ลำดับวงศ์ตระกูลนี้ ทำให้ผมได้ติดต่อกับเหลนของเขาชื่อ เชวี มาคอสกี (Chevy Marchosky) แม้เชวีจะไม่เคยได้ยินใครในครอบครัวพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับซีเนมาโตกราฟมาก่อน แต่เขาก็ยังส่งข้อมูลและหลักฐานเพิ่มเติมมาให้  หนึ่งในนั้นคือ ข้อตกลงก่อนการสมรส (Ketubah) ของ Marchosky กับมาเรีย ณ กรุงไคโร เมื่อวันที่ 20 มกราคม 1904 รวมถึงชื่อพ่อของเขา เลวี่ ไอแซค นอกจากนี้ เชวียังส่งภาพถ่ายของ Marchosky กับครอบครัว และภาพหลุมศพของเขาที่โคลอนมาให้ด้วย ซึ่งยืนยันว่าเขาเสียชีวิตในวันที่ 6 ธันวาคม 1933 


ภาพ: (ซ้าย) ภาพ Shulem Joseph Marchosky และครอบครัว ที่ผู้เขียนได้รับมอบมาจาก Chevy Marchosky (ขวา) หลุมศพของ Marchosky




เมื่อพิจารณาจากหลักฐานทั้งหมด คำถามที่ผุดขึ้นมาก็คือ จะมั่นใจได้อย่างไรว่า Shulem Joseph Marchosky เป็นบุคคลคนเดียวกับ S. G. Marchovsky มันไม่มีหลักฐานตรง ๆ แต่ผมคิดว่าการวิเคราะห์สั้น ๆ นี้อาจจะพอช่วยอะไรได้บ้าง 


ข้อสงสัยประการแรกคือเรื่องชื่อ เพราะนามสกุลของเขาเปลี่ยนไปตลอดเวลา Marchovsky, Marchosky, Marchevsky, Marchewsky แต่แม้จะเขียนต่างกัน คำเหล่านี้ก็ออกเสียงคล้ายกัน และการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ก็เป็นเรื่องปรกติในชั้นวงศ์ตระกูล โดยเฉพาะตัว v ที่ไม่ออกเสียงในบางภาษา ซึ่งปรกติแล้ว ควรจะลงท้ายว่า -ovsky, แต่เอกสารฉบับเดียวที่พบว่า Marchovsky  ลงนามด้วยตนเองนั้น เขาเขียนว่า  “Marchosky” ซึ่งต่อมาเป็นนามสกุลที่ลูกหลานเขาใช้ ดังนั้น เราจึงสันนิษฐานได้ว่า นี่เป็นชื่อที่เขาใช้ในชีวิตจริง และแม้แต่ในใบประกาศเจตจำนง ที่ระบุชื่อเขาว่า “Schulem”  ชื่อนี้เป็นชื่อฮีบรูที่มาจากคำว่า shalom ซึ่งปรกติจะเขียนว่า “Shulem” ซึ่งชื่อหลังนี้ เป็นชื่อที่อยู่บนหลุมศพของเขาจริง ๆ   


แล้วทำไม ชื่อ “Joseph” จึงถูกย่อว่า “G.”  ล่ะ  อืม พยัญชนะทั้งสองตัวนี้ออกเสียงคล้ายกันในภาษาฝรั่งเศสและอังกฤษ ดังนั้นมันจึงเกิดขึ้นอย่างน้อยสองครั้ง ทั้งในรายชื่อผู้เดินทาง และในประกาศของบางกอกโพสต์ (ผู้เขียนน่าจะหมายถึง บางกอกไตมส์ – ผู้แปล)  เราจึงสรุปได้ค่อนข้างชัดเจนว่า “S. G. Marchovsky” ก็คือ “Shulem Joseph Marchosky” ยิ่งไปกว่านั้น การที่ชื่อย่อสองชื่อนี้ซ้ำกัน ก็ยิ่งเป็นข้อยืนยันว่าพวกเขาคือคนเดียวกัน  


ข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ  ทั้ง “Shulem Joseph” และ “S.G.” มีประวัติเหมือนกัน “พวกเขา” เกิดเวลาเดียวกัน และอายุ 34 ปี ตอนที่เดินทางมาเมืองไทย การค้าขายก็ดูเป็นอาชีพที่เหมาะแก่การต้องออกไปต่างแดน  พวกเขาต่างย้ายที่บ่อยและเคยเดินทางไปไกล ๆ ส่วนเรื่องสัญชาติที่คลุมเครือ ก็อาจอธิบายได้ไม่ยาก หากเราพิจารณาว่าเขาเป็นผู้อพยพชาวยิวจากโรมาเนีย และเกี่ยวข้องกับฝรั่งเศสเพราะจุดหมายการเดินทางบางแห่ง เช่น เกาะเรอูนียง หรือ เทียนจิน ที่ซึ่งเหลนของ Marchosky บอกว่า เขาไปที่นั่นเพื่อนำสินค้าเข้าไปขายให้กองทัพฝรั่งเศส 


อย่างไรก็ตาม คำถามบางข้อยังคงไม่ได้รับคำตอบ ทำไม Marchosky  ถึงเลือกมาเมืองไทย  เขาไปจัดฉายหนังที่ไหนอีกบ้าง  ทำไมเขาถึงขายเครื่องซีเนมาโตกราฟ เราอาจจะไม่มีวันรู้คำตอบทั้งหมด แต่ผมมั่นใจว่า การค้นพบครั้งนี้คงช่วยเติมเต็มช่องว่างบางส่วนได้ไม่มากก็น้อย ดังนั้น จึงขอสรุปว่า Shulem Joseph Marchosky คือ ผู้จัดฉายภาพยนตร์แก่สาธารณชนเป็นครั้งแรกในเมืองไทย


ขอบคุณผู้ที่มีส่วนให้การค้นพบครั้งนี้เกิดขึ้นได้ ทั้ง เชวี มาคอสกี หอจดหมายเหตุแห่งเรอูนียง และเพื่อนของผม เอ. ซโดเน็ค ผู้ช่วยผมแปลเป็นภาษาอังกฤษ 


ลำดับเหตุการณ์  (ปี ค.ศ.) 

1863 – วันที่ 15 มิ.ย. เกิดที่เมืองยาสซี่

1896 – 1897 – ซื้อเครื่องซีเนมาโตกราฟ (ปารีส) 

1897 – มิ.ย. ฉายภาพยนตร์ในเมืองไทย

1902 – ม.ค. – มี.ค. ฉายภาพยนตร์ที่เกาะเรอูนียง

1904 – 20 ม.ค. แต่งงานกับมาเรีย (ไคโร) 

1905 – 1907 – ย้ายไปเทียนจิน (ลีโอ และ มัวริซ เกิด) 

1907 – 24 ก.ค. เดินทางเข้าเมืองซาน ฟรานซิสโก

1933 – 6 ธ.ค. เสียชีวิตที่เมืองโคลอน


ผมแนบรูปเอกสารที่ไม่ได้เผยแพร่ทางออนไลน์ และภาพของ Marchosky กับภรรยาและลูก ๆ มาด้วย ขอบคุณที่สละเวลาและช่วยพิจารณาข้อมูล


ด้วยความนับถือ 

อาร์คาดิอุส โคซิโอรอฟสกี



ภาพ: อาร์คาดิอุส โคซิโอรอฟสกี

--------------------------

1 See more at:A.Chaiworaporn, The Birth of Film Screening in Thailand, http://www.thaicinema.org/Essays_04TheBirthOfFilmSceeningInThai.php

and D.Sukwong S.Suwannapak, A Centaury of Thai Cinema, United Kingdom 2001

2 Le Journal de l'île de La Réunion, 23 January 1902, https://gallica.bnf.fr/ark:/12148/bpt6k5065994c/f3.item

Le Journal de l'île de La Réunion, 28 January 1902, https://gallica.bnf.fr/ark:/12148/bpt6k5065999f/f3.item.
Le Journal de l'île de La Réunion, 30 January 1902, https://gallica.bnf.fr/ark:/12148/bpt6k5066001x/f3.item.

3 Cinema in Asia, ed.Nick Deocampo, USA 2017.

4 Le Journal de l'île de La Réunion, 23 January 1902, https://gallica.bnf.fr/ark:/12148/bpt6k5065994c/f3.item

5 Sully, Le Cinematographe Le Journal de l'île de La Réunion, 28 January 1902, https://gallica.bnf.fr/ark:/12148/bpt6k5065999f/f2.item.

6 La Patrie créole, 27 January 1902, https://gallica.bnf.fr/ark:/12148/bpt6k50388358/f2.item.

7 Le Journal de l'île de La Réunion, 23 January 1902, https://gallica.bnf.fr/ark:/12148/bpt6k5065994c/f3.item.

8 La Patrie créole, 27 January 1902, https://gallica.bnf.fr/ark:/12148/bpt6k50388358/f2.item.

9 Ibidem.

Le Journal de l'île de La Réunion, 31 January 1902, https://gallica.bnf.fr/ark:/12148/bpt6k5066002b/f3.item.

10 J.Bertho Le Cinematographe, Le Journal de l'île de La Réunion, 30 January 1902, https://gallica.bnf.fr/ark:/12148/bpt6k5066001x/f3.item

11 Frédérique Gonthier.Les débuts du cinématographe à la Réunion, 1896-1905.Revue Historique de locéan Indien, 2006, 02, pp.229-245.

12  H.Busschere, Propos du Theatre, Le Journal de l'île de La Réunion, 02 February 1902,(unavailable online).

13 Le Journal de l'île de La Réunion, 1 March 1902, https://gallica.bnf.fr/ark:/12148/bpt6k5066005k/f3

Le Journal de l'île de La Réunion, 2 March 1902, https://gallica.bnf.fr/ark:/12148/bpt6k50660060/f3

Le Journal de l'île de La Réunion, 5 March 1902, https://gallica.bnf.fr/ark:/12148/bpt6k50660097/f4

Le Journal de l'île de La Réunion, 10 March 1902, https://gallica.bnf.fr/ark:/12148/bpt6k5066014j/f3

Le Journal de l'île de La Réunion, 12 March 1902, https://gallica.bnf.fr/ark:/12148/bpt6k5066016c/f4

Le Journal de l'île de La Réunion, 14  March 1902, https://gallica.bnf.fr/ark:/12148/bpt6k50660186/f4.

14 "California, customs passenger lists of vessels arriving at San Francisco, 1903-1918", database, FamilySearch, https://familysearch.org/ark:/61903/3:1:3Q9M-C9T2-VQ4B-G?cc=3477658
(can be accessed online, although requires a free account).

15 New York, County Naturalization Records, 1791-1980,"database, FamilySearch 
https://familysearch.org/ark:/61903/3:1:3QSQ-G9M8-P9F4-F?cc=1999177&wc=MDSP-3WL%3A326209701%2C327704301.

16 He made a mistake since the King of Romania was named Carol.

17 "Louisiana, New Orleans Passenger Lists, 1820-1945", database, FamilySearch 
https://familysearch.org/ark:/61903/3:1:33SQ-G5CK-43Z?cc=1916009&wc=MFVK-MTL%3A1029673701%2C1029683701.

18 https://www.ancestry.com/genealogy/records/shulem-joseph-marchosky-24-m7k10y.