เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) จัดฉายภาพยนตร์เรื่อง “Vengeance is Mine, All Others Pay Cash” หนังแอคชั่น-รัก-ตลกร้ายจากอินโดนีเซีย ผลงานปี 2564 ของ เอ็ดวิน (Edwin) ผู้กำกับคนสำคัญของหนังอินโดนีเซียร่วมสมัย และอำนวยการสร้างโดย มัยสเก เทาริเซีย (Meiske Taurisia) โปรดิวเซอร์อินโดนีเซีย รวมทั้งลำดับภาพโดย ลี ชาตะเมธีกุล นักลำดับภาพจากไทย
“Vengeance is Mine, All Others Pay Cash” ดัดแปลงมาจากนิยายเรื่องดังของ เอกา เคอร์เนียวาน (Eka Kurniawan) โดยหนังเรื่องนี้ สร้างอารมณ์เลียนแบบหนังบู๊ภูธรยุค 80-90 ของอินโดนีเซีย ออกฉายครั้งแรกที่ Locarno Film Festival และได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเสือดาวทองคำ (Golden Leopard) ซึ่งเป็นรางวัลใหญ่ของเทศกาล สร้างชื่อเสียงให้วงการภาพยนตร์อินโดนีเซียอย่างมาก
โดยหลังจบภาพยนตร์ มัยสเก ได้มาร่วมพูดคุยกับผู้ชม ถึงผลงาน ประสบการณ์การทำงาน รวมทั้งพูดคุยถึงอุตสาหกรรมหนังอินโดนีเซีย ที่กำลังตื่นตัวอย่างมากในปัจจุบันด้วยนโยบายการส่งเสริมที่เป็นรูปธรรมของภาครัฐ
มัยสเก เล่าย้อนเมื่อครั้งเริ่มต้นทำภาพยนตร์อิสระ หรือ หนังอินดี้ ในอินโดนีเซียว่า เมื่อก่อนยังไม่ค่อยมีระบบสนับสนุนการทำหนังอินดี้ ทีมงานหลักก็มีเพียงแค่ 5 คน ว่างเมื่อไหร่ก็ถ่ายทำกัน ด้วยฟิล์ม 35 มม. จากการไปขอตามที่ต่าง ๆ ในส่วนของอุปกรณ์การถ่ายทำ ผู้ให้เช่าก็ช่วยเหลือด้วยการให้ใช้ไปก่อนแล้วค่อยใช้เงินคืน โดย มัยสเก และ เอ็ดวิน ก็ค่อย ๆ ทยอยจ่าย ซึ่งก็ต้องไปทำงานโฆษณา หรืองานอื่น ๆ เพื่อหาเงินมาจ่าย
แต่ในยุคปัจจุบัน มัยสเก ระบุว่าดีขึ้น อย่างเมื่อตอนปี 2012 หนังของ เอ็ดวิน เรื่อง “Postcards from the Zoo” ได้รับรางวัล Golden Bear จาก Berlin International Film Festival ในตอนนั้น ไม่มีสื่อลงข่าวเลย แต่พอเมื่อปี 2017 หนังเรื่อง “Marlina the Murderer in Four Acts” ของ มูลี เซอร์ยา (Mouly Surya) ผู้กำกับอินโดนีเซีย ได้ฉายที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ สาย Directors' Fortnight ปรากฏว่ากลายเป็นข่าวดังในอินโดนีเซีย
มัยสเก กล่าวต่อไปว่า เหมือนกับสังคม โรงหนัง รวมทั้งคนในวงการหนังอินโดนีเซียทั่ว ๆ ไป เริ่มเข้าใจมากขึ้นว่าหนังอินดี้เป็นอย่างไร มีที่ทางอย่างไร และเปิดที่ทางให้มากขึ้น อย่างโรงก็เปิดโอกาสให้ฉายมากขึ้น มัยสเก เปิดเผยว่า เมื่อ 10 ปีแล้วตอนทำหนังเรื่อง “Postcards from the Zoo” ตนแทบไม่อยากจะเอาไปฉายโรงเลย เพราะคิดว่าโรงไม่เข้าใจ ไม่ได้ให้การสนับสนุนหนังประเภทนี้ อีกทั้งตอนนี้ อินโดนีเซียก็มีผู้กำกับหนังอินดี้เฉกเช่น เอ็ดวิน อีกหลายคน และบางคนก็ทำหนังตลาดสลับกันไปด้วย
เมื่อถามถึงการสนับสนุนจากภาครัฐ มัยสเก เปิดเผยว่า ในปัจจุบันนี้ดีขึ้น จากเมื่อก่อนที่ไม่มีเลย แต่พักหลัง ๆ ก็มีมากขึ้น อย่างในช่วง 5 ปีหลังมานี้ โดยเฉพาะเมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลได้ประกาศแผน Matching Fund คือ สมมติว่าหนังเราได้ทุนจากต่างประเทศมาเท่าไหร่ รัฐบาลจะให้สมทบอีกในจำนวนเท่ากัน โดยมุ่งเน้นไปที่หนังที่ออกไปต่างประเทศได้ ซึ่งกำลังเริ่มในช่วงนี้ และอยู่ระหว่างรอหนังที่เข้าข่ายทุนนี้อยู่
ทั้งนี้ หนังอินโดนีเซีย อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการศึกษา วัฒนธรรม วิจัย และ เทคโนโลยี ซึ่งจะมีหน่วยงานย่อยลงไปอีก มัยสเก ระบุว่า ตรงจุดนี้ไม่ต่างกับไทยมากนัก ขึ้นอยู่กับว่าใครมาเป็นหัวของหน่วยงาน และคุยกับฝ่ายคนทำหนังรู้เรื่องหรือไม่ ถ้าคุยกันรู้เรื่องก็เป็นเรื่องง่าย
สำหรับ จำนวนหนังอินโดนีเซียในปี ๆ หนึ่ง มัยสเก กล่าวว่า อย่างในเดือนมีนาคม 2567 มีภาพยนตร์อินโดนีเซียออกฉาย 17 เรื่อง โดยเฉลี่ยเดือนละ 15 เรื่อง รวมแล้วประมาณ 200 เรื่องขึ้นไปต่อปี และโดยส่วนมากจะส่งไปฉายในมาเลเซียด้วยเป็นหลัก ถ้าเรื่องไหนที่ประสบความสำเร็จในอินโดนีเซีย จะต้องไปฉายที่มาเลเซียด้วยอย่างแน่นอน
มัยสเก กล่าวต่อไปว่า ขณะเดียวกัน ก็มีหนังไทยไปฉายที่อินโดนีเซียด้วยบ้าง อย่างเช่น “ร่างทรง (2564)” ซึ่งสามารถขายตั๋วได้ราว 500,000 ใบ สำหรับราคาตั๋วหนังในอินโดนีเซีย โดยเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 3 ดอลลาร์ฯ หรือประมาณ 100 บาท ขณะที่จาการ์ตาอยู่ที่ประมาณ 200 บาท
นอกจากนี้ มัยสเก ได้ให้คำแนะนำในการทำภาพยนตร์อิสระ หรือ หนังอินดี้ กับผู้ชมที่มาร่วมพูดคุยด้วย อาทิ กรณีที่จะไปขอเงินกับนายทุน แล้วเรายังไม่สามารถให้คำมั่นสัญญากับนายทุนได้ว่างานจะเสร็จเมื่อไหร่ เนื่องจากขึ้นอยู่กับทุนที่ได้ เราจะมีวิธีการพูดคุยอย่างไร มัยสเก กล่าวว่า แต่ก่อนเมื่อเราพูดถึงนายทุน เราจะนึกถึงบริษัทหนังหรือใครก็ตาม ที่ลงทุนแล้วอยากจะได้เงินคืน หรือทำกำไร แต่ มัยสเก ได้พูดถึงเรื่อง Sharing Economy ว่า ในยุคสมัยใหม่ มีนักลงทุนที่ไม่ได้คิดแบบเดิม เช่น Start-Up ต่าง ๆ ซึ่งถ้าเราจะทำหนัง เราจะเอาคำว่า “ภาพยนตร์” ไปอยู่ในวงของธุรกิจเขาได้อย่างไร
มัยสเก ยังแนะนำว่า อย่ากลัวที่จะเชื้อเชิญนักแสดงเบอร์ใหญ่มาร่วมงานด้วย เพราะถ้ามีนักแสดงมีชื่อ ก็จะช่วยให้การขอทุนเป็นไปได้ง่ายขึ้น มัยสเก กล่าวว่า เมื่อเราเริ่มต้นทำหนัง ซึ่งมันจะต้องเป็นหนังที่ดีแน่ ๆ คนทำหนังก็ย่อมต้องการนักแสดงที่ดี เช่นเดียวกัน นักแสดงก็ต้องการเล่นหนังที่ดี ต่างฝ่ายต่างต้องการกันและกัน ดังนั้น จงอย่ากลัว เพราะเมื่อหนังคุณมีนักแสดงเบอร์ใหญ่ ใครเล่าจะไม่ต้องการลงทุนในหนังของคุณ
เมื่อถามว่า หนังในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะแพร่หลายอย่างหนังเกาหลีใต้ได้หรือไม่ มัยสเก กล่าวว่า เกาหลีใต้สามารถทำได้ เนื่องด้วยระบบที่ถูกวางไว้อย่างชัดเจนและแข็งแรง ขณะที่หนังอินโดนีเซียเพิ่งทำได้ 70 ปี แต่ว่าก็เสียเวลาไปกับระบบเผด็จการที่แช่แข็งทุกอย่างไว้เนิ่นนาน กว่าจะฟื้นตัว กว่าจะตั้งหลักกันได้ ดังจะเห็นได้จาก หนังอินโดนีเซียก็เพิ่งบูมในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้เอง ดังนั้น เป็นสิ่งที่คิดได้ ฝันได้ แต่ก็มีรายละเอียดที่ต้องทำมากมาย และต้องช่วยกันทำต่อไป
เมื่อถามถึงการ Distribution หนังสั้น มัยสเก กล่าวว่า ในประเทศรอบ ๆ เราอย่าง อินโดนีเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ ต่างมีเทศกาลหนังสั้น ซึ่งก็สอดคล้องกับคำถามที่ว่า เราจะทำให้วงการหนังในภูมิภาคนี้เติบโตได้อย่างไร ก็ต้องเริ่มต้นจากการทำงานร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้านก่อน เพราะการไปสู่ฮอลลีวูดก็คงจะไกลตัวเกินไป
มัยสเก กล่าวเสริมว่า คุณค่าที่ใหญ่ที่สุดของหนังสั้น คือการเป็นสนามเด็กเล่นที่ใหญ่ที่สุดของคนทำหนัง การทำหนังยาวก็ไม่ใหญ่เท่า เพราะ ในการทำหนังสั้น คุณสามารถทำ สร้างสรรค์ แสดงออก หรือทดลองอะไรก็ได้ในสิ่งที่คุณต้องการ ในขณะที่การทำหนังยาวจะต้องเจอเงื่อนไขต่าง ๆ มากมาย เป็นขอบเขตในการสร้างสรรค์งาน
มัยสเก ยังเน้นย้ำความสำคัญของการทำหนังสั้นว่า ยังช่วยในการฝึกฝนในสิ่งที่เราทำได้ดี โดยให้ทำจนคล่อง จนเชี่ยวชาญ จากนั้นจึงขยายไปสู่การแสดงออก หรือทดลองอะไรใหม่ ๆ อย่างเช่น เอ็ดวิน ก็ทำยังหนังสั้นทุกปีแม้จะทำหนังยาวแล้ว เพื่อเป็นการซ้อมมืออยู่เรื่อย ๆ
มัยสเก ยกตัวอย่างว่า ถ้าเราให้ Log Line กับผู้กำกับ 20 คนไปทำหนัง เราก็จะได้ผลงานออกมา 20 แบบที่แตกต่างกัน ซึ่งนั่นคือความเป็นไปได้ของการสร้างสรรค์ผลงานที่กว้างใหญ่มาก และนั่นคือความท้ายทายของการทำหนังสั้น ซึ่งไม่ใช่กับหนังยาวเพราะมันจะเต็มไปด้วยความเสี่ยง ขณะที่หนังสั้น มัยสเก กล่าวว่า ขอพูดได้เลยว่าไม่มีความเสี่ยง
เขียนโดย เมธากุล ชาบัญ