โดย กองบรรณาธิการจดหมายข่าวหอภาพยนตร์
ที่มา: จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 69 ประจำเดือน พฤษภาคม - มิถุนายน 2565
ภาพถ่าย ถือเป็นเอกสารจดหมายเหตุส่วนบุคคลที่คนส่วนใหญ่จะคุ้นเคย ในอดีตภาพถ่ายอาจจะถูกบันทึกเพื่อเก็บภาพเหตุการณ์ ช่วงเวลา สถานที่ บุคคลที่สำคัญ ๆ แต่ปัจจุบัน เมื่อโทรศัพท์เคลื่อนที่ถูกใช้เป็นกล้องถ่ายภาพและพกพาไปได้ทุกที่ คนจำนวนมากจึงคุ้นเคยกับการถ่ายภาพเป็นอันมาก และจำนวนภาพถ่ายของแต่ละคนจึงมีมากขึ้นมากกว่าสมัยที่ยังจำเป็นต้องพึ่งกล้องถ่ายภาพ
คอลัมน์การทำจดหมายเหตุส่วนบุคคล ตอนที่ 3 นี้ จะเป็นเรื่องการดูแลจัดการและเก็บรักษาเอกสารจดหมายเหตุประเภทภาพถ่าย ไฟล์ภาพ และฟิล์มภาพถ่าย
การคัดเลือก
🔸 หากมีจำนวนรูปภาพจำนวนมาก ควรต้องมีการวางแผนว่า จะแปลงสัญญาณดิจิทัลภาพถ่ายทั้งหมดหรือจะคัดเลือกเฉพาะบางภาพเท่านั้น โดยการสัมผัสภาพถ่ายควรมีการสวมถุงมือเพื่อป้องกันไม่ให้ริ้วรอยนิ้วมือติดบนภาพถ่าย
🔸 กรณีฟิล์มภาพถ่าย หากไม่มีสำเนาภาพควรจะทำความสะอาดฟิล์มภาพถ่าย แล้วนำไปแปลงสัญญาณเป็นภาพด้วยเครื่องสแกนเนอร์ที่สามารถสแกนฟิล์มภาพถ่ายได้
ภาพ: การคัดแยกประเภท
การคัดแยก
🔸 ควรวางแผนคัดแยกภาพเป็นหมวดหมู่ เช่น บุคคล สถานที่ เหตุการณ์ หรือลำดับเวลา ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ที่จะนำไปใช้
ทำความสะอาด
🔸 ใช้ลูกยางเป่าลมและแปรงขนนุ่มเป่าฝุ่นออกจากภาพและฟิล์มภาพถ่าย
🔸 หากมีสติกเกอร์หรือเทปกาวควรจะใช้วัตถุขนาดเล็กปลายแหลมดึงออกอย่างเบา เพื่อไม่ให้เนื้อภาพหลุดลอกออกมาด้วย
🔸 หากบนภาพมีคราบสกปรก ใช้ไม้พันสำลีชุบแอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาดเฉพาะจุดที่เป็นคราบ
ภาพ: ใช้แปรงขนนุ่มเป่าฝุ่นออกจากฟิล์ภาพถ่าย
การแปลงสัญญาณให้เป็นไฟล์ดิจิทัล
🔸 การตั้งค่าความละเอียดของไฟล์ภาพ หรือ DPI (Dot per Inch) เป็นการตั้งค่าความละเอียดของไฟล์ภาพที่สแกนออกมา ยิ่งเลขค่า DPI สูงยิ่งมีความละเอียดมาก ซึ่งไฟล์ภาพจะเก็บรายละเอียดจากต้นฉบับได้มากขึ้น และยิ่งไฟล์ภาพมีความละเอียดสูง ขนาดไฟล์ก็ยิ่งใหญ่มากขึ้นไปอีก หากขนาดภาพถ่ายปกติจะมีการตั้งค่าความละเอียด 600 DPI แต่ถ้าภาพขนาดเล็กกว่า 5 x 3 นิ้ว สามารถตั้งค่าความละเอียดของไฟล์ภาพที่ 1,200 DPI
🔸 ควรบันทึกไฟล์ดิจิทัลเป็นนามสกุล TIFF เนื่องจากเป็นประเภทไฟล์ภาพที่ไม่มีการบีบอัดขนาดไฟล์ ทำให้ไฟล์มีความสมบูรณ์มากที่สุด
🔸 เนื่องจากไฟล์นามสกุล TIFF จะมีขนาดใหญ่ อาจจะไม่เหมาะสำหรับการนำไปให้บริการทั่วไป ก็สามารถแปลงเป็นไฟล์ JPEG ซึ่งจะบีบอัดขนาดไฟล์ภาพในเล็กลง
🔸 หากไม่มีเครื่องสแกนเนอร์ อาจจะใช้กล้องดิจิทัลหรือกล้องในโทรศัพท์มือถือถ่ายภาพก็ได้ ซึ่งจะไม่ได้ไฟล์ต้นฉบับภาพสกุล TIFF โดยการใช้กล้องถ่ายรูปแทนเครื่องสแกนเนอร์ ควรจะวางภาพที่จะถ่ายในพื้นแบนราบ พยายามตั้งกล้องให้มั่นคง เก็บภาพได้ครบ และแสงสว่างพอเหมาะ เพื่อให้ภาพที่ถ่ายมีสีและเสียงใกล้เคียงกับภาพต้นฉบับมากที่สุด
🔸 การตั้งชื่อไฟล์ดิจิทัล ควรจะตั้งตามหมวดหมู่ที่แยกคัดประเภทไว้ตอนต้นและลำดับของภาพนั้น
ภาพ: แปลงสัญญาณเป็นดิจิทัล
การเก็บรักษาภาพถ่ายและฟิล์มภาพถ่าย
ถึงแม้จะมีสำเนาไฟล์ภาพดิจิทัลแล้ว ก็ไม่ควรทิ้งภาพถ่ายและฟิล์มภาพถ่ายแต่อย่างไร โดยสามารถจัดเก็บภาพถ่ายและฟิล์มภาพถ่ายในซองใสไร้กรด หรือซองกระดาษไร้กรด แล้วนำเข้าแฟ้ม ใส่กล่องพลาสติกที่มิดชิดพร้อมกับใส่ซิลิกาเจลที่เป็นสารเคมีที่มีคุณสมบัติในการดูดและคายความชื้นได้ โดยควรเก็บในพื้นที่ที่แห้งและมีอุณหภูมิไม่ร้อนหรือเย็นเกินไป และไม่ถูกแสงโดยตรง
ภาพ: การเก็บรูปใส่ซองไร้กรด
การจัดเก็บไฟล์ภาพถ่าย
🔸 จัดเก็บไฟล์รูปภาพลงในฮาร์ดดิสก์หรือสื่อบันทึกที่คงทนต่าง ๆ โดยแยกประเภทภาพลงใส่ Folder ซึ่งตั้งชื่อ Folder ตามประเภทที่คัดแยกไว้ตอนต้น
🔸 สำหรับไฟล์ภาพดิจิทัล ให้ดำเนินการคัดแยกเป็นหมวดหมู่เช่นเดียวกับภาพถ่าย โดยเลือกและคัดแยกเก็บตาม Folder เช่นเดียวกัน
🔸 เพื่อความปลอดภัย ควรทำสำเนาไฟล์ดิจิทัลเก็บไว้ในสื่อบันทึกอย่างน้อย 3 สำเนา เพื่อเป็นไฟล์สำรองในกรณีที่สื่อบันทึกหลักเกิดความเสียหาย โดยหากเก็บสื่อบันทึกที่ต่างชนิดกันอย่างน้อย 2 ประเภท และแยกเก็บต่างสถานที่ จะช่วยเรื่องความปลอดภัยมากขึ้น
การให้คำอธิบายไฟล์ภาพ
นอกจากกระบวนการพื้นฐานข้างต้นที่กล่าวมานี้ สำหรับงานนักหอจดหมายเหตุมืออาชีพ จะมีการนำเข้าข้อมูลรายละเอียดของแต่ละภาพ หรือ Metadata ลงในไฟล์รูปภาพแต่ละรูป เช่น ผู้ถ่ายภาพ เจ้าของลิขสิทธิ์ภาพ ความสำคัญ คำสำคัญที่เกี่ยวกับภาพ คำอธิบายอื่น ๆ ที่สำคัญ ความเห็นต่อรูป ขนาดความละเอียดของภาพ และตำแหน่งสถานที่ที่ถ่ายภาพนั้น ข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการสืบค้นมากขึ้น