โดย กองบรรณาธิการ จดหมายข่าวหอภาพยนตร์
ที่มา: จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 71 ประจำเดือน กันยายน - ตุลาคม 2565
คอลัมน์การทำจดหมายเหตุส่วนบุคคล ตอนที่ 5 นี้ จะเป็นเรื่องการดูแลจัดการและเก็บรักษาวัตถุประเภทฟิล์มภาพยนตร์ ก่อนอื่น เราจะพาไปรู้จักลักษณะและประเภทของฟิล์มภาพยนตร์โดยสังเขปกันก่อน
ขนาดฟิล์ม
ขนาดฟิล์มจะวัดความกว้างของฟิล์มภาพยนตร์ ขนาดมาตรฐานของฟิล์มที่ถูกใช้กันแพร่หลาย และมักพบเห็นบ่อย คือ ขนาด 8 มม. ซึ่งพบมากในกลุ่มหนังบ้าน หนังที่ถ่ายทำอย่างมือสมัครเล่นในครอบครัว ปัจจุบันเริ่มมีกลุ่มศิลปินและกลุ่มทำหนังทดลองเริ่มกลับมาใช้, 16 มม. จะถูกใช้สำหรับหนังข่าว หนังของนักถ่ายมืออาชีพ และหนังไทยในยุคหลังสงครามครั้งที่ 2 จนถึงปี 2515 และขนาด 35 มม. ซึ่งเป็นฟิล์มขนาดมาตรฐานที่ใช้ในการถ่ายทำภาพยนตร์ที่ออกฉายทั่วไป ส่วนฟิล์มขนาด 70 มม. ในประเทศไทย อาจจะมีการใช้ค่อนข้างน้อย
ภาพ: ฟิล์มที่นิยมใช้กันทั่วไป 3 ขนาด คือ 8 มม., 16 มม. และ 35 มม.
ชนิดของฐานฟิล์ม
ฐานฟิล์มเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของฟิล์ม มีหลายประเภท ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างกัน
ไนเตรต (Nitrate) เป็นฐานฟิล์มในยุคแรกของการผลิตฟิล์มภาพยนตร์ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นฟิล์มที่มีความคงทนมากที่สุด เพราะสามารถอยู่มาได้จนถึงปัจจุบัน แต่ข้อเสียที่อันตรายคือ สามารถติดไฟได้ง่าย และเมื่อเกิดการเผาไหม้ขึ้นจะไม่สามารถดับไฟที่เกิดขึ้นได้ เนื่องจากตัวฟิล์มสร้างออกซิเจนออกมา และไฟที่ลุกไหม้จะดับก็ต่อเมื่อมันได้เผาตัวเองจนหมดแล้ว อะซิเตต (Acetate) เป็นฐานฟิล์มที่ถูกพัฒนาต่อจากฟิล์มไนเตรต ตัวฟิล์มมีกลิ่นเฉพาะคล้ายลูกเหม็น ฟิล์มในกลุ่มอะซิเตตนี้จะมี 2 ประเภทคือ ไดอะซิเตต (Diacetate) ซึ่งใช้ในช่วงแรก ๆ กับ ไตรอะซิเตต (Triacetate) ซึ่งถูกใช้อย่างแพร่หลาย ฟิล์มกลุ่มนี้มีความปลอดภัยและไม่ติดไฟง่ายแบบไนเตรต จึงถูกเรียกว่าเป็นฟิล์มปลอดภัย (Safety Film) ซึ่งในขอบฟิล์มจะมีการพิมพ์คำว่า SAFETY FILM ข้อเสียของฟิล์มชนิดนี้คือ เมื่อฟิล์มเริ่มเสื่อมสภาพจะมีกลิ่นเปรี้ยวคล้ายกรดน้ำส้ม
โพลีเอสเตอร์ (Polyester) เป็นฐานฟิล์มที่ผลิตเพื่อใช้กับภาพนิ่งหรือฟิล์มขนาดเล็กในช่วงกลางปีทศวรรษ 1940 ก่อนที่จะมาใช้ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์เป็นส่วนใหญ่ ในช่วงกลางทศวรรษ 1990 ฟิล์มโพลีเอสเตอร์จะมีความเหนียวคงทน ไม่ได้ขาดง่าย ๆ ฉีกด้วยมือมนุษย์ไม่ขาด และมีคําว่า SAFETY FILM ไว้บนขอบฟิล์มเช่นเดียวกับอะซิเตต
ลักษณะความเสียหายทางกายภาพของฟิล์มภาพยนตร์ และการรักษาเบื้องต้น
- ฟิล์มที่มีคราบสกปรกจากน้ำมัน
- ฟิล์มภาพยนตร์มีเกล็ดสีขาวขึ้นที่ฟิล์มภาพยนตร์
- ฟิล์มภาพยนตร์มีราขึ้นเกิดจากการเก็บฟิล์มในที่ที่มีความชื้นสูง
- ฟิล์มภาพยนตร์มีคราบต่าง ๆ เป็นรอยด่างเห็นได้ชัดเจน เช่น คราบที่เกิดจากการโดนน้ำ
- ฟิล์มภาพยนตร์สกปรกจากสนิม ส่วนใหญ่จะเกิดจากการเก็บรักษาฟิล์มที่ไม่ถูกต้อง
- ฟิล์มภาพยนตร์ถูกแมลงกัดกิน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นปลวก และมีร่องรอยให้เห็นได้ชัดเจน มักจะพบได้ในประเทศที่อยู่แถบเมืองร้อน
การรักษาเบื้องต้น: ทำความสะอาดเบื้องต้น เช็ดด้วยสารเคมี (Isopropanol) ในบริเวณฟิล์มที่ชำรุดต้องซ่อมแซมโดยผู้เชี่ยวชาญ
ภาพ: Mould คือฟิล์มภาพยนตร์ที่มีราขึ้น
- รูหนามเตยมีรอยแตก รอยแหว่ง หรือฉีกขาดเป็นแนวยาว
- ฟิล์มฉีกขาดที่ไม่ใช่บริเวณรอยต่อ
การรักษาเบื้องต้น: สามารถซ่อมด้วยเทปสำหรับซ่อมฟิล์มโดยเฉพาะ ในกรณีที่ซ่อมแซมเพื่อการใช้งานชั่วคราว สามารถใช้เทปใสในการซ่อมแซมได้ แต่เมื่อเสร็จแล้วควรลอกออกทันที
- อาการชํารุดของเส้นเสียง ซึ่งอาจฉีกขาดเป็นบางส่วน หรือมีรอยขูดขีดจนทําให้เส้นเสียงหายไปบางช่วง
การรักษาเบื้องต้น: ถ้าขาดบริเวณเส้นเสียงสามารถใช้เทปซ่อมได้ แต่ถ้าเป็นเส้นเสียงแบบ Magnetic ให้ซ่อมเทปฝั่งที่ไม่ใช่เส้นเสียง
- ร่องรอยการเผาไหม้บนฟิล์มภาพยนตร์ มีลักษณะเป็นรอยพองหรือละลาย
การรักษาเบื้องต้น: ปกติฟิล์มจะไหม้พองเป็นเฟรม ให้ใช้เทปสำหรับซ่อมฟิล์มในการซ่อมแซม แต่ถ้าไหม้จนฟิล์มขาดต้องซ่อมด้วยการต่อฟิล์ม
- รอยขูดขีด บริเวณฐานและเยื่อภาพ อาจเป็นรอยขีดข่วนตามยาวหรือตามขวาง มักจะเกิดระหว่างการฉาย
การรักษาเบื้องต้น: รักษาทางกายภาพลดรอยขีดข่วนไม่ได้ แต่สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลลบริ้วรอยจากไฟล์ที่สแกนได้
- สีฟิล์มภาพยนตร์ที่ซีดจาง เนื่องมาจากการเก็บรักษาที่ไม่ถูกต้อง
การรักษาเบื้องต้น: รักษาทางกายภาพให้สีกลับมาเหมือนเดิมไม่ได้ แต่สามารถบูรณะสีของไฟล์ภาพยนตร์ที่ได้รับการสแกนแล้ว
ภาพ: Fade อาการของสีฟิล์มภาพยนตร์ที่ซีดจาง
- ฟิล์มมีกลิ่นกรดน้ำส้ม ซึ่งกลิ่นเกิดจากความเสื่อมของฟิล์มภาพยนตร์
- ฟิล์มภาพยนตร์มีอาการโค้งงอ หักมุมเป็นเหลี่ยมและคลื่น หรือบิดเป็นเกลียว
- อาการโค้งงอ (โก่งตัว) ของฟิล์มภาพยนตร์ ขอบฟิล์มทั้ง 2 ด้านจะมีลักษณะโค้งงอเข้าหากัน
- ฟิล์มภาพยนตร์หดตัว
- ฟิล์มภาพยนตร์เปราะและแตก
- ฟิล์มภาพยนตร์แข็งติดกันเป็นก้อน เกิดจากการถูกกรอเก็บในแบบเดิมเป็นเวลานาน
- เยื่อภาพไม่เกาะติดกับฐานฟิล์ม มีอาการแตกตัวแยกออกจากฐานฟิล์ม
- เยื่อภาพละลายจนไม่เห็นภาพ ส่วนใหญ่มักเกิดจากการโดนน้ำ หรือฟิล์มที่มีอาการเสื่อมสภาพที่มีอาการเหนียวติดกัน
การรักษาเบื้องต้น: ต้องซ่อมแซมโดยผู้เชี่ยวชาญ
ภาพ: Twist อาการของฟิล์มภาพยนตร์ที่มีลักษณะบิดเป็นเกลียว
วิธีแนะนําในการจัดการ ดูแลและเก็บรักษาฟิล์มอย่างง่าย ๆ
1. เปิดกล่องฟิล์มดูว่าฟิล์มมีสภาพอย่างไร แล้วแบ่งฟิล์มออกเป็น 2 กอง คือ ฟิล์มสภาพดี และฟิล์มที่เริ่มมีกลิ่นกรดน้ำส้ม และมีลักษณะความเสียหายทางกายภาพดังรายละเอียดข้างต้น ควรเก็บกล่องหรือซองที่ใส่ฟิล์มไว้ด้วย เพราะอาจมีข้อมูลเกี่ยวกับฟิล์มบันทึกอยู่
2. เมื่อแยกฟิล์มเสร็จแล้ว ให้เก็บฟิล์มในห้องที่มีอุณหภูมิค่อนข้างคงที่ ไม่ร้อน ไม่ชื้น ไม่สัมผัสกับแสงแดดโดยตรง ควรเก็บให้ห่างจากสารเคมี ไอเสีย และน้ำ ส่วนฟิล์มที่มีอาการป่วยให้ทำการรักษาเบื้องต้นตามอาการ และควรแยกห้องเก็บจากฟิล์มที่ดี และต้องเป็นห้องที่มีอากาศถ่ายเท เพราะถ้าเก็บรวมกันอาจทําให้ฟิล์มที่ดีติดโรคจากฟิล์มที่ป่วยได้
3. การดูแลรักษาฟิล์มนั้นไม่ยากแต่ก็ไม่ง่าย การดูแลรักษาและซ่อมแซมฟิล์มที่ป่วยอาจจะต้องมีการประเมินความเสื่อมสภาพและทำการซ่อมแซมโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
-----------------
บทความนี้เป็นเพียงข้อมูลการดูแลรักษาฟิล์มเบื้องต้น สำหรับท่านใดที่มีฟิล์มภาพยนตร์ไม่ว่าจะเป็นหนังบ้าน หนังข่าว หรือภาพยนตร์ไทย และต้องการให้หอภาพยนตร์ได้นำมาเก็บรักษา อนุรักษ์ไว้ สามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร 02-482-2013-15 ต่อ 2101 มานัสศักดิ์ ดอกไม้ 0896885880 ธีรวุฒิ นามทอง 0815595138